http://krupawana.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

สถิติ

เปิดเว็บ17/03/2010
อัพเดท19/03/2023
ผู้เข้าชม1,195,671
เปิดเพจ2,065,215

อนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อยากให้อ่านตรงนี้ก่อน

กำเนิดของเศรษฐกิจพอเพียง

พ่อหลวงในดวงใจของฉัน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน

วิธีทำผลิตภัณฑ์ชีวภาพในครัวเรือนสูตรชีวภาพ

ทำการเกษตรวิธีอินทรีย์ชีวภาพดีกว่าใช้สารเคมี

การพึ่งพาภูมิปัญญาอย่างพอเพียง

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
iGetWeb.com
AdsOne.com

การป้องกันกำจัดศัตรูของพืชและสัตว์ด้วยวิธีชีวภาพ

       
       
ปัจจุบัน คน สัตว์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการที่มีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร เกษตรกรมักจะใช้สารเคมี ในปริมาณสูงมากเกินความจำเป็น เช่น การใส่ปุ๋ยเคมีลงในดิน โดยหวังจะทดแทนธาตุอาหารพืชที่สูญเสียไปจากการเผาตอซัง และการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อเร่งการเจริญเติบโต รวมถึงการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช และปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะพบปัญหาว่า ต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารเคมีต่างๆขึ้นจากเดิมอย่างมากจึงจะมีผลผลิตเหลือให้เก็บเกี่ยว จากการกระทำดังกล่าวนั้น มีส่วนทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางลบและมีผลกระทบย้อนกลับมาสู่การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างมาก หากเราต้องการให้มีการลดหรือเลิกใช้สารเคมีนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มต้นที่การตระหนักถึงโทษของสารเคมี เห็นประโยชน์และความสำคัญของการเลิกใช้สารเคมี ปรับเปลี่ยนความคิดและการปฏิบัติของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารหรือผู้บริโภคอาหาร และให้ความร่วมมือกันในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย เลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หันกลับมาใช้วิถีชีวิตที่เกื้อกูลธรรมชาติให้มากขึ้น โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้
เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในการเกษตรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ที่ปฏิบัติได้ง่ายๆ เช่น

1. การใส่อินทรียวัตถุลงในดินโดยตรงเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินเพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี

           การใส่อินทรียวัตถุลงในดินโดยตรง หมายถึง การนำสารที่ได้จากพืชและสัตว์มาใส่ลงในดินอย่างต่อเนื่องเป็นประจำเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารที่พืชต้องการให้ครบถ้วน เพราะเมื่ออินทรีย์วัตถุย่อยสลายสมบูรณ์แล้วจะได้สารที่เรียกว่า ฮิวมัส หรือ ฮิวมัส แอซิด ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลว สีน้ำตาลดำ ฮิวมัสจะเป็นแหล่งธาตุอาหารของพืช ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม พืชจะนำสารอาหารนี้ไปใช้ได้ทันที และถึงแม้ว่าในอินทรียวัตถุจะมีปริมาณธาตุอาหารพืชน้อยกว่าปุ๋ยเคมี แต่จากการที่มันย่อยสลายตัวอย่างช้าๆ   ก็จะค่อยๆปลดปล่อยสารอาหารให้พืชโดยไม่สูญเสียไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับการสูญเสียธาตุอาหารพืชในปุ๋ยเคมี  ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดรายจ่ายและช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ 
          ถึงแม้ว่าในดินบางพื้นที่จะมีธาตุอาหารพืชปริมาณมากเพียงพอต่อพืชแล้วก็ตาม การใส่อินทรีย์วัตถุ    ลงในดินก็จะเป็นการช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้โปร่งและร่วนซุยขึ้น อุ้มน้ำและถ่ายเทอากาศดีขึ้น ดูดซับธาตุอาหารพืชไว้ได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้รากพืชเจริญเติบโต ดูดน้ำและธาตุอาหารในดินได้เต็มประสิทธิภาพ     อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้สิ่งมีชีวิตในดินที่เป็นประโยชน์ เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ จุลินทรีย์ต่างๆ ทำกิจกรรมในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยลดปริมาณการเผาทำลายขยะประเภทอินทรีย์์วัตถุ ซึ่งเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย การใส่อินทรียวัตถุลงในดินโดยตรงทำได้หลายวิธี (อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยดีที่ไม่ต้องซื้อ)
 
2. ทดแทนการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชด้วยการใช้สารชีวภาพ เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชและเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับพืชที่ปลูก

          การใช้สารชีวภาพ ทำได้ดังนี้

          2.1 ใช้น้ำหมักชีวภาพ 
                น้ำหมักชีวภาพ เป็นของเหลวที่ได้จากการนำอินทรีย์วัตถุที่มีคุณสมบัติต่างๆตามที่ต้องการ  ไปผ่านการหมักตามกระบวนการ โดยมีการใช้จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์(EM)เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา                      
                ในน้ำหมักชีวภาพจะมีกรดอินทรีย์ แร่ธาตุ จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ และสารอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการปลูกพืชเป็นส่วนประกอบ  หากได้ใช้น้ำหมักชีวภาพ ในอัตราส่วน 1 c.c. ผสมกับน้ำสะอาด 1 ลิตร  รดให้ต้นพืชหรือดินเป็นประจำ จะมีผลดีหลายประการ ดังนี้
                - จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ ในน้ำหมักชีวภาพจะช่วยเร่งการย่อยสลายอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินให้อยู่ในรูปของสารละลายกรดฮิวมิคแอซิดได้เร็วขึ้น 
                - ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย จะทำให้การอุ้มน้ำของดินและการถ่ายเทอากาศในดินดีขึ้น
                - ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนพืช   ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิต ทำให้ปริมาณ ผลผลิตสูงขึ้น และผลผลิตมีคุณภาพดีขึ้น
                - ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคและแมลงศัตรูต่างๆ ให้กับพืชที่ปลูก  
                - ช่วยลดปริมาณเชื้อโรคและแมลงที่เป็นศัตรูของพืชได้
                - ช่วยให้ผลผลิตพืชมีอายุการเก็บรักษาหลังเก็บเกี่ยวนานขึ้น ไม่เน่าเสียง่าย   
                - ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างในดินและในน้ำให้เหมาะสม เป็นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำซึ่งเป็นการช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

         2.2 ใช้สมุนไพรในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
               สมุนไพร หมายถึง สารที่ได้จากพืช สัตว์ แร่ธาตุ ซึ่งมีผลต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งในด้านการบำรุง  การบำบัดรักษาโรค หรือการทำให้เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต (หลายท่านคงสงสัยว่าเมื่อมันเป็นพิษต่อสิ่งมีชิวิตแล้วจะเอามาใช้ทำไม ก็เลือกเอามาใช้ปราบศัตรูพืชนะซิคะ) 
               ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้นำพืชสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิดมาใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมี เพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อทั้งคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม พืชสมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณแตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย สมุนไพรบางชนิดมีสารที่มีสรรพคุณในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้พืช ป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชได้  สมุนไพรบางชนิดมีสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช  สมุนไพรบางชนิดมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อแมลงโดยตรง เมื่อแมลงได้รับสารนี้แล้วจะตายทันที บางชนิดมีกลิ่นฉุนขับไล่แมลงไม่ให้มาทำลายพืชที่ปลูก   บางชนิดมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อแมลงในทางอ้อม คือ เมื่อแมลงได้รับสารนี้แล้วจะยังไม่ตายทันทีแต่ระบบต่างๆในร่างกายจะผิดปกติไป ในที่สุดแมลงก็จะตาย 
                การใช้สมุนไพรในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชทำได้ง่าย และปลอดภัยต่อทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม เพียงตำหรือบดสมุนไพรที่มีสรรพคุณตามที่ต้องการให้ละเอียด ผสมกับน้ำสะอาดหรือแช่น้ำทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด  จากนั้นจึงกรองเอากากออก นำน้ำสบู่ผสมลงไปในน้ำที่สกัดได้เล็กน้อยเพื่อช่วยเพิ่มคุณสมบัติการจับใบพืช จากนั้นนำมาฉีดพ่นต้นพืชให้ทั่วทุกส่วน (ควรฉีดตอนเย็นหรือใกล้ค่ำที่แดดไม่ร้อนจัด เพราะความร้อนจากแสงแดดจะทำลายฤทธิ์ของสารสกัดให้ด้อยประสิทธิภาพลง) การนำพืชสมุนไพรมาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ ควรยึดหลัก ป้องกันดีกว่าแก้ไข  เพราะการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากพืชสมุนไพรจะเป็นไปอย่างช้าๆ  จึงควรใช้ก่อนการระบาดของศัตรูพืช ใช้เป็นประจำและใช้อย่างต่อเนื่อง  และอาจนำสารสกัดจากพืชสมุนไพรหลายๆชนิดมาผสมรวมกันเพื่อให้ได้ผลในการป้องกันกำจัดที่ดียิ่งขึ้น 
       
 
        
ตัวอย่างพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช    เช่น 
    - ยาสูบ ในใบแก่ มีฤทธิ์กำจัดเพลี้ย หนอนชอนใบ และทากบางชนิด
    - ข่า ในเหง้าแก่สด มีฤทธิ์ขับไล่แมลงวันผลไม้
    - ตะไคร้หอม ในต้น มีน้ำมันที่สกัดจากต้นมีฤทธิ์มีฤทธิ์ขับไล่แม่ผีเสื้อและแมลงต่างๆ,ยุง
    - สะเดาไทย ในผล เมล็ด เปลือกต้นและใบแก่ มีฤทธิ์ขับไล่แมลง  ทำให้ไข่แมลงฝ่อฟักเป็นตัวอ่อนไม่ได้  
และฆ่าแมลงบางชนิดโดยทำให้แมลงบางชนิดเจริญเติบโตผิดปกติ ลอกคราบไม่ได้ และตายในที่สุด 
การกำจัดแมลงที่ใช้ได้ผลดี ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ต่างๆ หนอนกินใบ หนอนเจาะยอด
    - โหระพา ในต้น มีน้ำมันที่สกัดจากต้นมีฤทธิ์ในการกำจัดไรและเพลี้ยอ่อน
    - ขมิ้นชัน ในเหง้าแก่สด มีฤทธิ์ป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ผัก
    - พริกขี้หนู หรือ พริกที่เผ็ดจัด ในเมล็ด ผลแก่สุก มีสารออกฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อรา ที่ทำให้เกิดโรคใบจุด,
    - กระเทียม  ในหัว น้ำมันที่สกัดจากหัวมีฤทธิ์กำจัดแมลงทุกชนิด
    - มะเขือเทศ ในใบสดและลำต้นแก่สด มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดด้วงหมัดผัก หนอนใยผัก หนอนเจาะ
ลำต้น หนอนผีเสื้อกะหล่ำ ด้วงหน่อไม้ฝรั่ง ไรแดง และแมลงที่ทำลายพืชตระกูลถั่ว
    - ดาวเรือง ในทุกส่วนของต้นดาวเรืองมีสารที่ออกฤทธิ์ในการกำจัดไส้เดือนฝอย หนอนผีเสื้อ หนอนใยผัก
เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว โดยเฉพาะในใบแก่จะมีสารออกฤทธิ์มากกว่าส่วนอื่น
    - ผกากรอง ในเมล็ดแก่ มีสารออกฤทธิ์ที่ป้องกันการฟักไข่ของแมลง
    - ยี่โถ ในดอกและใบแก่ มีสารออกฤทธิ์ที่ใช้กำจัดหนอนทุกชนิด
    - น้อยหน่า ในใบสด  เมล็ด และผลดิบ มีฤทธิ์ฆ่าแมลง  ฆ่าตัวอ่อนของแมลง ขัดขวางการดูดกิน ใช้กำจัดเพลี้ยอ่อนได้ดี
    - ฟ้าทะลายโจร ในต้นและใบแก่ มีสารออกฤทธิ์ที่กำจัดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสบางชนิด
    - คูน ในฝักแก่ มีสารออกฤทธิ์ที่กำจัดหนอนกระทู้ผัก  และด้วงชนิดต่างๆ
    - บอระเพ็ด ในต้นและใบ มีสารออกฤทธิ์ที่ทำลายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและหนอนกอข้าว

3. ใช้วิธีชีวภาพป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เพื่อทดแทนการใช้วิธีเคมี

          การใช้วิธีชีวภาพเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่

          3.1 ใช้ศัตรูตามธรรมชาติในการกำจัดศัตรูพืช
                     3.1.1 ใช้ตัวห้ำ(Predators)
                                   ตัวห้ำ คือ สัตว์ที่ดำรงชีวิตโดยการกินสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร ซึ่งโดยทั่วไปเหยื่อจะมีขนาดเล็กกว่าและอ่อนแอกว่า  ตัวห้ำจะกินเหยื่อได้หลายชนิด และสามารถกินเหยื่อได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ทั้งไข่ ตัวอ่อน(ตัวหนอน) ดักแด้ และตัวเต็มวัย  ตัวอย่างของสัตว์ที่เป็นตัวห้ำ เช่น งู  นก  กบ คางคก อึ่งอ่าง ปาด กิ้งก่า จิ้งเหลน แมงมุม ไรตัวห้ำ และแมลงตัวห้ำต่างๆ เช่น ด้วงดิน  ด้วงเต่าสีส้ม ด้วงก้นกระดก ด้วงเต่าปีกลายหยัก แมลงช้าง แมลงวันหัวบุบ แมลงวันดอกไม้ มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต แมลงหางหนีบ  มวนกิ่งไม้  ตั๊กแตนตำข้าว  ตั๊กแตนหนวดยาว และต่อชนิดต่างๆ  ซึ่งในธรรมชาติทั่วไปตัวห้ำประเภทแมลงนี้จะมีทั้งชนิดและปริมาณมากกว่าตัวห้ำประเภทอื่น                       
                    3.3.2 ใช้ตัวเบียน (Parasites)
                                   ตัวเบียน คือ สัตว์ขนาดเล็กที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเกาะกินอยู่บนตัวหรือในตัวสัตว์โดยอาศัยชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าในการดำรงชีพและจะทำให้สัตว์อาศัย(หรือแมลงอาศัย)นั้นๆอ่อนแอและตายในที่สุด ตัวเบียนส่วนใหญ่จะเป็นแมลง (เรียกว่า แมลงเบียน) ซึ่งมีการคาดคะเนว่าในโลกนี้จะมีอยู่ประมาณ 3๐๐,๐๐๐ ชนิด  ตัวเบียนจะสามารถเข้าทำลายและอยู่อาศัยเจริญเติบโตในสัตว์อาศัยได้ในทุกระยะ ทั้งระยะเป็นไข่ ตัวอ่อน(หนอน) ดักแด้ และตัวเต็มวัย  ในการเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิต(ตั้งแต่ระยะไข่ถึงตัวเต็มวัย) ของตัวเบียน 1 ตัว ต้องการสัตว์อาศัย(หรือแมลงอาศัย)เพียงตัวเดียว และเฉพาะตัวเบียนเพศเมียเท่านั้นที่จะทำลายสัตว์อาศัยได้ โดยใช้อวัยวะวางไข่ของมัน(มักจะมีลักษณะยาว แหลม) เจาะแล้ววางไข่ลงในหรือบนตัวสัตว์อาศัย  สามารถจำแนกตัวเบียนตามพฤติกรรมการเบียน ได้เป็น 3 ประเภท คือ
                                1) ตัวเบียนภายใน คือตัวเบียนที่เข้าไปทำลายและเจริญเติบโตอยู่ภายในตัวของสัตว์อาศัยจนกระทั่งพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยก็จะเจาะออกมาจากสัตว์อาศัยสู่โลกภายนอก
                                2) ตัวเบียนภายนอก คือตัวเบียนที่เกาะอยู่ภายนอกบนตัวของสัตว์อาศัย แล้วทำลายสัตว์อาศัยโดยใช้ส่วนปากเจาะแทงหรือกัดผ่านผนังลำตัวเพื่อดูดกินสารอาหารจากตัวสัตว์อาศัย  จนกระทั่ง   ตัวเบียนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย สัตว์อาศัยนั้นก็จะอ่อนแอและตายในที่สุด
                                3) ตัวเบียนร่วม คือตัวเบียนหลายชนิดที่ร่วมกันทำลายสัตว์อาศัยพร้อมๆกัน ภายในหรือบนตัวสัตว์อาศัยเพียงตัวเดียว  
 
           3.2 ใช้เชื้อจุลินทรีย์บางชนิดกำจัดเชื้อโรคหรือแมลงศัตรูพืช
  
                     การใช้เชื้อจุลินทรีย์ไปกำจัดเชื้อโรคหรือแมลงศัตรูพืช หมายถึง การใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุที่ทำศัตรูพืชเกิดโรคไปทำลายศัตรูพืชให้ตายไป  ปัจจุบันมีการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อโรคหรือแมลงศัตรูพืชออกจำหน่ายหลายชนิดซึ่งผู้ใช้ต้องศึกษาและเลือกใช้ให้เหมาะสม จุลินทรีย์ที่ใช้กำจัดศัตรูพืชได้ผลดีในปัจจุบัน  ได้แก่
                    3.2.1 เชื้อราชั้นสูงที่ชื่อว่า ไตรโคเดอร์มา(Trichoderma spp.) โดยนำมาผสมกับน้ำสะอาด ฉีดพ่นพืชผัก ไม้ผล และพืชไร่  เพื่อควบคุมโรคพืชที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราชั้นสูงและเชื้อราชั้นต่ำอื่นๆ เช่น โรคเน่าคอดิน  โรครากและลำต้นเน่า โรคเหี่ยว โรคโคนเน่า
                    3.3.2 เชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bacillus thuringiensis ใช้ในการกำจัดตัวอ่อนของแมลงจำพวกหนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบกะหล่ำ โดยนำมาผสมน้ำฉีดพ่นไปบนต้นพืชให้ทั่ว เมื่อแมลงศัตรูพืชที่กล่าวมาแล้วกินพืชที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไป น้ำย่อยในลำไส้ของแมลงจะไปละลายผนังเซลล์ให้กลายเป็นสารพิษ ไปทำลายลำไส้ของแมลง  ทำให้แมลงหยุดกินอาหาร เคลื่อนไหวช้าลง และจะตายในที่สุด  
                    3.3.3 เชื้อไวรัส ปัจจุบันเชื้อไวรัสที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการกำจัดแมลง มีชื่อว่า Nuclear Polyhydrosis Virus โดยนำมาผสมน้ำฉีดพ่นบนต้นพืช เพื่อกำจัดตัวอ่อนของแมลงจำพวกหนอนหนังเหนียวชนิดต่างๆ เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย  ถ้าหนอนกินพืชที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไป น้ำย่อยในกระเพาะของหนอนที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะไปย่อยโปรตีนที่เป็นผนังห่อหุ้มเซลล์ให้แตกกระจาย จากนั้นเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อและระบบประสาท ทำให้หนอนตายในที่สุด
                    3.4.4 การใช้ไส้เดือนฝอยมากำจัดตัวอ่อนของแมลงจำพวกหนอนกระทู้หอมและด้วงหมัดผักชนิดต่างๆ  โดยใช้ไส้เดือนฝอยที่มีชื่อว่า Steinernema Carpocapsae มาผสมน้ำฉีดพ่นบนต้นพืช  ไส้เดือนฝอยจะเข้าสู่ตัวอ่อนของแมลงศัตรูพืช ทางปาก รูหายใจและทวาร จากนั้นจะชอนไชเข้าในกระแสเลือด และเพิ่มจำนวนมากขึ้น  แล้วปลดปล่อยแบคทีเรียที่มีพิษต่อหนอนออกมา ทำให้หนอนตายภายใน 24-48 ชั่วโมง  (ไส้เดือนฝอยชนิดนี้ มีคุณสมบัติทนทานต่อความแห้งแล้ง  ทนทานต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช   และทนต่อแรงดันสูงของเครื่องพ่นสารเคมี   แต่จะอ่อนแอเมื่อถูกแสงแดดหรือที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส  จึงต้องเก็บภาชนะที่บรรจุไส้เดือนฝอยนี้ไว้ในที่เย็นและไม่ให้ถูกแสงแดด)

  หมายเหตุ การใช้เลือกใช้สารชีวภาพหรือสมุนไพรกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสมจะไม่ทำลายตัวห้ำและตัวเบียน

4. การใช้วิธีชีวภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูสัตว์และส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยง

        การป้องกันกำจัดศัตรูและส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยงโดยใช้วิธีชีวภาพทำได้ ดังนี้

           4.1 ใช้น้ำหมักชีวภาพในรูปแบบต่างๆ  ดังนี้
                     4.1.1 ผสมน้ำหมักชีวภาพในน้ำสะอาดให้สัตว์ดื่มเป็นประจำ หรือ ผสมคลุกเคล้าลงในอาหารสัตว์  หรือฉีดพ่นบนหญ้าที่ให้สัตว์กิน จะเกิดประโยชน์ ดังนี้
           - ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารของสัตว์ ช่วยลดกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์
           - ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคให้แก่สัตว์ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร
           - ช่วยลดความเครียดของสัตว์จากการเปลี่ยนอาหารในระยะต่างๆ  จากการขนย้ายสัตว์และจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
                      4.1.2 ผสมน้ำหมักชีวภาพในน้ำล้างคอกสัตว์ และหรือผสมน้ำใช้ฉีดพ่นบริเวณคอกสัตว์ จะเกิดประโยชน์ดังนี้                   
          - ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นในสถานที่เลี้ยงสัตว์
          - ช่วยบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มเมื่อปล่อยน้ำจากฟาร์มลงแหล่งน้ำก็ไม่ทำให้น้ำเน่าเสีย
          - สามารถนำน้ำที่ได้จากการล้างคอกไปใช้รดน้ำต้นไม้ได้ โดยไม่ต้องบำบัดอีก
          - ลดปัญหาเรื่องแมลงวัน แมลงหวี่ และยุง ในบริเวณฟาร์มปศุสัตว์
                     4.1.3  ผสมน้ำหมักชีวภาพในน้ำสำหรับอาบทำความสะอาดตัวสัตว์
          - ช่วยลดกลิ่นเหม็นสาบของสัตว์
          - ช่วยลดศัตรูของสัตว์ จำพวกหมัด เห็บ ไร
                     4.1.4 ใช้น้ำหมักชีวภาพใส่ลงในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จะมีผลดี ดังนี้
          - ช่วยย่อยสลายมูลสัตว์และเศษอาหารที่ตกค้างที่ก้นบ่อให้หมดไป  ทำให้น้ำไม่เสีย
          -ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อเลี้ยงบ่อย  จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แรงงานและเวลา
          - เมื่อวิดน้ำจับสัตว์น้ำไปแล้วไม่จำเป็นต้องลอกเลนก้นบ่อทิ้ง ใช้เลี้ยงสัตว์ต่อได้โดยไม่ต้องพักบ่อ     ลดเวลา แรงงานและค่าใช้จ่าย
          - ทำให้สัตว์น้ำมีสุขภาพแข็งแรง ผิวสะอาด เนื้อสัตว์ที่นำไปบริโภคจะไม่มีกลิ่นโคลนตม

          4.2 การใช้สมุนไพรในการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ 
                      4.2.1 การนำพืชสมุนไพรสดมาให้สัตว์กินเป็นอาหารเสริม จะช่วยลดความเครียดของสัตว์จากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และช่วยเพิ่มความต้านทานโรคให้แก่สัตว์ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร 
                      4.2.2 การใช้สมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคที่ไม่รุนแรงให้กับสัตว์เลี้ยง

    จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคุณเลยใช่ไหม เรามาร่วมมือร่วมใจกันนะ เพื่อโลกและเพื่อเรา


view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view