http://krupawana.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

สถิติ

เปิดเว็บ17/03/2010
อัพเดท19/03/2023
ผู้เข้าชม1,196,813
เปิดเพจ2,066,393

อนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อยากให้อ่านตรงนี้ก่อน

กำเนิดของเศรษฐกิจพอเพียง

พ่อหลวงในดวงใจของฉัน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน

วิธีทำผลิตภัณฑ์ชีวภาพในครัวเรือนสูตรชีวภาพ

ทำการเกษตรวิธีอินทรีย์ชีวภาพดีกว่าใช้สารเคมี

การพึ่งพาภูมิปัญญาอย่างพอเพียง

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
iGetWeb.com
AdsOne.com

ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยดีที่ไม่ต้องซื้อ


      ถ้าอยากให้ต้นไม้ที่คุณปลูกไว้เจริญเติบโตงอกงาม แข็งแรง โดยที่ตัวคุณก็ยังมีสุขภาพดีด้วยเช่นกันก็ลองมาเป็นกุ๊กฝีมือดี ปรุงอาหารชั้นเยี่ยมให้พืชกินดูซิ 
     
ไม่ต้องงง พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือคุณสามารถนำเศษอินทรีย์วัตถุ ใบไม้ ใบหญ้า เศษอาหาร ซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ที่มีอยู่มาหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์แล้วนำไปใช้กับพืชได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินไปซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้ และถ้าใช้ไปนานๆติดต่อกันดินก็เสื่อมลงด้วย  ปุ๋ยอินทรีย์มีหลายชนิด
 ได้แก่

              1.1 ปุ๋ยคอก 
                      ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากมูลสัตว์ รวมถึงวัสดุรองพื้นคอกและน้ำล้างคอกสัตว์ด้วย เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารพืชครบถ้วน ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม แต่เมื่อเทียบกับน้ำหนักแล้ว จะมีปริมาณสารอาหารไม่มากนัก มูลสัตว์แต่ละชนิดจะมีปริมาณธาตุอาหารพืชต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของสัตว์และชนิดของอาหารที่สัตว์กิน ปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลของสัตว์ที่กินอาหารที่มีโปรตีนสูงเป็นหลัก จะมีปริมาณธาตุอาหารพืชสูงกว่าสัตว์ที่กินพืชหรือหญ้าเป็นอาหารหลัก ปุ๋ยคอกโดยทั่วไปจะมีไนโตรเจน ประมาณ 0.5 %  N  ฟอสฟอรัส 0.25  %  P2O5  และโพแทสเซียม 0.5  %  K2O เช่น มูลเป็ด มูลไก่ จะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่ามูลหมู มูลหมูจะมีปริมาณธาตุอาหารสูงกว่ามูลวัวและควาย มูลวัวนมจะมีปริมาณธาตุอาหารพืชสูงกว่ามูลวัวเนื้อ  มูลค้างคาวและกัวโนค้างคาว เป็นปุ๋ยคอกที่มีปริมาณธาตุอาหารพืชสูงที่สุด (กัวโนค้างคาว คือ มูลค้างคาวที่มีหินก้นถ้ำและซากค้างคาวย่อยสลายทับถมกันมาเป็นเวลานาน หรือบางทีเรียกว่าอินทรีย์ฟอสเฟต) มูลสัตว์อายุมากๆจะมีธาตุอาหารสูงกว่าสัตว์ที่อายุน้อย(เพราะประสิทธิภาพการย่อยและดูดซึมสารอาหารลดลง) มูลสัตว์ใหม่จะมีธาตุอาหารสูงกว่ามูลสัตว์เก่า ปุ๋ยคอกใหม่มีปริมาณธาตุอาหารพืชสูงกว่าปุ๋ยคอกเก่า ปุ๋ยคอกที่เก็บภายใต้หลังคาที่กันแดดและฝนได้จะมีปริมาณธาตุอาหารพืชสูงกว่าปุ๋ยคอกที่กองไว้กลางแจ้ง แต่ปุ๋ยคอกที่จะนำมาใส่ให้พืชควรผ่านกระบวนการหมักให้ย่อยสลายดีจนหมดความร้อนเสียก่อนโดยนำมูลสัตว์ไปผึ่งในที่ร่มให้แห้ง (มูลสัตว์ใหม่จะมีความชื้นอยู่ประมาณ 80 %) ในขั้นตอนนี้อาจใช้น้ำผสมกับ EM และกากน้ำตาล ราดไปบนกองปุ๋ยเพื่อช่วยเร่งให้มีการย่อยสลายตัวเร็วขึ้น แล้วโกยรวมเป็นกองหมักไว้ประมาณ 15 – 20 วัน ก็นำไปใช้ได้(ถ้าได้กลับกองปุ๋ยทุกๆ 3 วัน หรือ นำท่อ PVC ที่เจาะรูโดยรอบ สอดปลายข้างหนึ่งไว้ในกองปุ๋ย เพื่อระบายความร้อนและก๊าซ ก็จะดีขึ้น)  
        ปุ๋ยคอกจะสูญเสียธาตุอาหารพืชต่างๆไปได้ง่าย ธาตุอาหารพืชบางส่วนจะสูญหายไปจากการถูกน้ำฝนชะล้าง หรือจากการระเหิดกลายเป็นก๊าซ  ทั้งระหว่างการหมัก การเก็บรักษา และขณะที่นำปุ๋ยไปใส่ลงดิน ธาตุไนโตรเจนในปุ๋ยคอก
อยู่ในรูปของแอมโมเนีย ซึ่งประมาณ 50 % ของทั้งหมดจะระเหยไปในอากาศ และเมื่อใส่ปุ๋ยคอกลงในดินแล้ว จะมีการสูญเสียธาตุไนโตรเจนต่อไปอีกประมาณ 20 % แต่ถ้าได้ผสมคลุกเคล้าปุ๋ยคอกลงในดินปลูกหรือไถกลบปุ๋ยลงในดิน การสูญเสียธาตุไนโตรเจนจะน้อยลง  ส่วนธาตุฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในปุ๋ยคอก ส่วนใหญ่จะสูญเสียจากการชะล้างของน้ำ  ธาตุฟอสฟอรัสจะละลายน้ำและมักจะตกตะกอนลึกลงไปเกินจากระดับรากพืชอยู่ในรูปแอมโมเนียมฟอสเฟตของแมกนีเซียม แต่ถ้าเรานำตะกอนนี้ไปใส่ลงในดินอีกก็จะปลดปล่อยธาตุฟอสฟอรัสออกมาได้ให้เป็นประโยชน์กับพืชได้อีก  ส่วนโพแทสเซียมมักอยู่ในรูปของคลอไรด์ ซึ่งจะละลายน้ำได้ดีเช่นกัน แต่ก็ละลายน้อยกว่าธาตุไนโตรเจน   ฉะนั้นการเก็บรักษาและการใช้ปุ๋ยคอกที่ถูกวิธี คือ การกองปุ๋ยรวมกันไว้ภายใต้หลังคาที่กันแดดกันฝนได้ โดยกองเป็นรูปฝาชีแล้วอัดกองให้แน่น   เมื่อนำไปใช้จะต้องคลุกเคล้าปุ๋ยให้เข้ากับดิน หรือไถกลบลงในดิน

                1.2 ปุ๋ยหมัก 
                         ปุ๋ยหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ทำขึ้นโดยเลียนแบบการเกิดปุ๋ยในธรรมชาติ  ด้วยการหมักซากพืชซากสัตว์ มูลสัตว์ รวมถึงขยะประเภทอินทรียวัตถุที่เหลือทิ้งจากครัวเรือน สถานประกอบการณ์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เศษอาหาร แกลบ  ขี้เลื่อย กากอ้อย กากมันสำปะหลัง ฯลฯ ให้สลายตัว โดยมีการใช้จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ เป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เร็วขึ้น  เราสามารถทำปุ๋ยหมักชีวภาพไว้ใช้เองได้ง่ายๆ โดยการกองสุมเศษพืชต่างๆทั้งชนิดสดและแห้งทิ้งไว้ให้ย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ หรือถ้าต้องการเร่งให้นำปุ๋ยมาใช้ได้เร็วขึ้นอาจย่ำกองปุ๋ยให้แน่นเป็นชั้นๆ  สูงชั้นละประมาณประมาณ 30 -50 เซนติเมตร โรยทับด้วยมูลสัตว์ หนา 5 เซนติเมตร สามารถกองทับกันได้หลายชั้น แล้วใช้น้ำ 20 ลิตร ผสมน้ำหมักชีวภาพ 2 ช้อนโต๊ะ กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ รดบนกองเศษพืชให้ชุ่ม ชั้นบนสุดปิดทับด้วยดินร่วน  ทิ้งไว้ 3 เดือนก็จะได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพดีไว้ใช้  ในปุ๋ยหมักจะมีไนโตรเจน ปริมาณ 0.4-2 %  N  ฟอสฟอรัส 0.08 -1 %  P2O5  และโพแทสเซียม 0.6 -1.3  %  K2O

                1.3 ปุ๋ยพืชสด
                         ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบส่วนต่างๆของพืชขณะที่ยังสดอยู่ลงไปในดิน ซากพืชที่ถูกไถกลบลงไปในดินจะย่อยสลาย เป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืชให้แก่ดิน พืชที่นิยมนำมาใช้ทำปุ๋ยพืชสด  เช่น
                         1.3.1 พืชตระกูลถั่ว  
                                      เนื่องจากบริเวณรากของพืชตระกูลถั่ว จะเป็นที่อาศัยของแบคทีเรียกลุ่มไรโซเบียม (Rhizobium) ที่สามารถจับตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเก็บสะสมไว้ได้ เมื่อไถกลบต้นถั่วลงในดินก็จะย่อยสลายแล้วปลดปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา ซึ่งโดยทั่วไปปุ๋ยพืชสดจากพืชตระกูลถั่วจะมีปริมาณไนโตรเจน ประมาณ 2.5 - 3 % ถ้าปลูกพืชตระกูลถั่วได้น้ำหนักปุ๋ยพืชสด 1/2 ตัน ต่อพื้นที่ 1ไร่ เมื่อไถกลบลงในดิน จะเป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่ดินได้ 12-15 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับการปลูกข้าวโพดโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเพิ่มอีก) นอกจากนี้แล้วอาจปลูกพืชตระกูลถั่วให้เป็นพืชคลุมดินไว้ตามสวนไม้ยืนต้น เช่น สวนผลไม้ สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนมะพร้าว ได้อีกด้วย เมื่อใบถั่วร่วงหล่นลงดินก็จะกลายเป็นปุ๋ย  พืชตระกูลถั่วที่เหมาะสมจะนำมาทำปุ๋ยพืชสดควรมีคุณสมบัติ โตเร็ว อายุสั้น มีใบและกิ่งก้านหนาแน่นแผ่คลุมดินไปได้ไกล วัชพืชขึ้นแข่งไม่ได้และมีระบบรากที่แข็งแรงไชชอนลึกลงไปในดินได้ดี เช่น โสน ปอเทือง ถั่วลาย  ถั่วเขียว  ถั่วพุ่ม  ส่วนการไถกลบต้นถั่วเพื่อทำปุ๋ยพืชสดนั้น ควรทำหลังจากที่ปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วปล่อยให้เจริญเติบโตจนต้นถั่วมีอายุประมาณ 7-8 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ถั่วเจริญเติบโตมากที่สุด (หรือเป็นช่วงที่ต้นถั่วเริ่มออกดอก)ก็ไกกลบต้นถั่วนั้นลงในดิน แล้วปลูกพืชหลักหลังจากไถกลบแล้วประมาณ 7 -10 วัน   
                         1.3.2 แหนแดง  
                                      แหนแดงเป็นเฟิร์นน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นอยู่ตามห้วย หนอง  คลอง  บึง ในช่องว่างที่อยู่ใต้ใบของแหนแดงจะเป็นที่อยู่ของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว ซึ่งมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนได้  เราอาจเพาะเลี้ยงแหนแดงไว้ในแปลงเมื่อแหนแดงขยายพันธุ์มากขึ้นก็ใช้วิธีตักไปใส่ในดินแล้วไถกลบลงดิน หรือนำไปใส่ไว้ในนาข้าว   ซึ่งตามปกติแหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในน้ำที่มีค่า pH ประมาณ 5.7 – 7.8 อุณหภูมิ 19 - 27 องศาเซลเซียส แต่กรณีที่เลี้ยงแหนแดงในนาข้าวโดยตรง ควรเลี้ยงไว้ล่วงหน้าก่อนการคราดดินขณะที่ดินมีน้ำแฉะ และเมื่อคราดกลบแล้วจะมีแหนแดงบางส่วนเจริญเติบโตต่อไปได้ ก่อนการหว่านข้าวหรือปักดำก็จะคราดกลบอีกครั้งหนึ่ง  แหนแดงจะเริ่มสลายตัวหลังจากที่คราดกลบลงในดินแล้วประมาณ 7-8 วัน หลังจากนั้นอีกประมาณ 20 วัน ก็จะปลดปล่อยธาตุไนโตรเจนออกมา

               1.4  ดินหมัก (ในภาษาญี่ปุ่นเรียกดินหมักว่า ไบโยโดะ)  
                          ดินหมัก เป็นดินชนิดหนึ่งที่ทำโดยการใส่อินทรีย์วัตถุลงในดินเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารพืชให้กับดิน เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลเร็วและวิธีการทำไม่ยุ่งยาก คือ ใช้ดินร่วนหรือดินเหนียว และอินทรีย์วัตถุ จำพวกมูลไก่ไข่ ก้างปลาป่น รำละเอียด หรือกากถั่วเหลือง กากเมล็ดฝ้าย ฯลฯ ผสมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ แล้วหมักไว้ 1 เดือน   ดินที่ทำเป็นดินหมักแล้วจะมีศักยภาพสูงขึ้นคล้ายกับการนำปุ๋ยน้ำชีวภาพใส่ลงในดินที่มีอินทรีย์วัตถุ ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตของพืชมีคุณภาพดีขึ้น เหมาะสำหรับการปรับปรุงสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หรือใช้ผสมดินสำหรับการปลูกพืชในภาชนะ และเพื่อให้การปรับปรุงดินมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นควรจะใช้ดินหมักร่วมกับปุ๋ยหมัก

     เห็นหรือไม่ว่า ด้วยวิธีง่ายๆที่กล่าวมาแล้วต้นไม้ของคุณก็จะมีอาหารจานโปรด คุณภาพเยี่ยม ราคาถูกแล้ว



 

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view