http://krupawana.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

สถิติ

เปิดเว็บ17/03/2010
อัพเดท19/03/2023
ผู้เข้าชม1,195,692
เปิดเพจ2,065,236

อนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อยากให้อ่านตรงนี้ก่อน

กำเนิดของเศรษฐกิจพอเพียง

พ่อหลวงในดวงใจของฉัน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน

วิธีทำผลิตภัณฑ์ชีวภาพในครัวเรือนสูตรชีวภาพ

ทำการเกษตรวิธีอินทรีย์ชีวภาพดีกว่าใช้สารเคมี

การพึ่งพาภูมิปัญญาอย่างพอเพียง

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
iGetWeb.com
AdsOne.com

การทำน้ำหมักชีวภาพสูตรผลไม้/ผลไม้ลดโลกร้อน

 

      ผลไม้ที่ใครๆก็รู้จักดี ลดโลกร้อนได้อย่างไร.....?

       ที่ผ่านมาคุณนำผลไม้สุกงอมที่เหลือจากการรับประทานรวมถึงเปลือกผลไม้ไปทิ้งใช่มั๊ย? รู้หรือไม่ว่านั่นเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อน เพราะคุณใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไม่คุ้มค่า แถมยังเพิ่มปริมาณขยะบนโลกด้วย คุณอยากช่วยลดโลกร้อนและลดการใช้จ่ายเงินโดยไม่จำเป็นมั๊ยละ ไม่ยากเลย ก็เอาผลไม้ที่เหลือกินเหลือใช้นั้นมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้ไง
       
เราสามารถนำผลไม้ที่แก่จัด ผลไม้สุกงอมที่เหลือจากการรับประทาน ผลไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ในสวน รวมถึงเปลือกหรือเศษผลไม้ที่เหลือทิ้ง นำมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพโดยเลือกใช้วัตถุดิบให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน ได้แก่

        1.น้ำหมักจากผลไม้รสเปรี้ยว 
           น้ำหมักจากผลไม้รสเปรี้ยวนี้มีคุณสมบัติเด่นคือมีความเป็นกรดสูงใช้สำหรับการทำความสะอาดในรูปแบบต่างๆได้ดี ผลไม้รสเปรี้ยวที่นิยมนำมาหมัก เช่น มะกรูด มะนาว มะเฟือง สับปะรด ส้มป่อย นำผลไม้ใดมาหมักก็จะเรียกชื่อน้ำหมักตามผลไม้นั้นๆ ถ้าจะนำมาใช้กับการทำความสะอาดร่างกาย ทำสบู่ ยาสระผม ผสมน้ำอาบ ก็เลือกใช้วัตถุดิบที่คุณภาพดี แต่ถ้าจะใช้เพื่อการซักล้างแบบช่วยลดโลกร้อนก็ควรเลือกวัตถุดิบที่คนส่วนใหญ่เขาทิ้งแล้ว(แต่ไม่เน่าเสีย ไม่สกปรก) เช่น เนื้อมะกรูดที่นำผิวไปทำพริกแกงแล้ว(ขอได้จากร้านที่ทำพริกแกงขาย) ผลมะเฟืองที่สุกงอมหรือถูกแมลงเจาะทำลายแล้วร่วงเกลื่อนอยู่ใต้ต้น เปลือกส้มหรือเปลือกมะนาวที่คั้นน้ำไปใช้แล้ว เปลือกสับปะรด เปลือกส้มโอ(ขอได้จากแม่ค้า) ซึ่งน้ำที่ได้จากหมักผลไม้รสเปรี้ยวนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดจัด มีค่าpH ประมาณ 3 -3.5 กรดที่ได้นี้มีคุณสมบัติช่วยสลายไขมันหรือขจัดคราบสกปรกต่างๆได้ดีและจะมีกลิ่นหอมของผลไม้หรือกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเปลือกของผลไม้ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณอื่นๆตามชนิดของผลไม้ที่นำมาหมัก       
        นอกจากนี้ จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์(EM)ที่อยู่ในน้ำหมักชีวภาพ จะไปช่วยยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์กลุ่มทำลาย ทำให้ช่วยลดปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวันที่เกิดจากเชื้อโรคได้ด้วย แถมประหยัดเงินไม่ต้องซื้อของใช้ ไม่ต้องเสียค่ากำจัดขยะ ประหยัดแรงงานและเวลาในการทำความสะอาด  และน้ำทิ้งจากการซักล้างต่างๆ จะทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าน้ำที่ซักล้างด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำจากสารเคมี 

 ส่วนผสม   1. ผลไม้รสเปรี้ยว(แก่จัดหรือสุก-ใช้ทั้งเปลือก)                  3    กก.
             2. น้ำตาลทรายธรรมชาติ                                        1    กก. 
             3. น้ำสะอาด                                                    10  ลิตร
             4. หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM) ชนิดน้ำ ปริมาณเล็กน้อย 

      การหมักผลไม้บางชนิดไม่ต้องใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ก็ได้ เช่น มะเฟืองสุก สับปะรดสุกงอมทั้งเปลือก เปลือกสับปะรด มะกรูด องุ่น เพราะผลไม้พวกนี้จะมีจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM)อยู่ในตัวเองแล้ว   
      ถ้าไม่มีหัวเชื้อจุลินทรีย์EM จะใช้นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต(มีจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัส 1 ขวด ) แป้งข้าวหมาก 1 ก้อน หรือน้ำดองผัก-ผลไม้ที่กลิ่นดี 1/2 แก้วแทนได้

 วิธีทำ
        ผสมน้ำตาลทรายกับน้ำสะอาดในถังพลาสติก คนให้น้ำตาลละลาย จากนั้นหั่นผลไม้ตามขวางให้เป็นชิ้นเล็กๆใส่ลงในถังที่ละลายน้ำตาลไว้  ควรเลือกใช้ถังขนาดที่เมื่อใส่วัตถุดิบทั้งหมดแล้วเหลือที่อากาศเพียงเล็กน้อย(เหลือที่ประมาณ 1 ใน 10 ส่วน) แล้วปิดฝาถังให้สนิท หมักไว้ประมาณ 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าจะนำน้ำหมักนั้นมาใช้ประโยชน์อะไร  การหมักในระยะ 1-2 สัปดาห์แรกจะเกิดฟองอากาศขึ้นมาจำนวนมาก มีฝ้าสีขาวขึ้นที่ผิวด้านบนน้ำหมัก และมีกลิ่นหอมคล้ายไวน์ นั่นถือว่าการหมักได้ผลดี 
       แต่ถ้าที่ผิวหน้ามีราสีดำขึ้นและมีกลิ่นเหม็นเน่า แสดงว่าเกิดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์ตัวร้ายไม่ควรนำไปใช้งาน ถ้านำไปเททิ้งที่ใดที่นั่นก็จะมีกลิ่นเหม็นเน่ามากๆไปนานเลย กลิ่นเหมือนส้วมแตก ถ้าเทบนลานปูนซีเมนต์ที่ถูกแสงแดดจัดๆส่องตลอดวันก็จะหายเหม็นเร็วขึ้นหน่อย แต่ก็มีบางคนนำไปใช้กำจัดวัชพืชโดยใช้ชนิดเข้มข้นฉีดพ่นไปบนใบวัชพืช   ใบวัชพืชจะแห้งเหี่ยวเฉาตาย แต่ขอบอกว่า"เหม็นมาก"และเหม็นนานกว่าจะหาย และเมื่อวัชพืชตายแล้วต้องฉีดพ่นซ้ำด้วยEMเพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้ฟื้นกลับคืนมา 

    

      ถ้าจะนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้งานโดยตรงเพื่อทำความสะอาดและใช้ประโยชน์จากการทำงานของจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์(เช่น นำไปถูพื้น ล้างพื้น โดยไม่นำไปผสมในผลิตภัณฑ์)ก็ไม่ต้องหมักนานถึง 3 เดือน  เริ่มนำมาใช้งานได้หลังจากหมัก 1-2 สัปดาห์หรือเห็นฟองจำนวนมากผุดขึ้นมาจากน้ำหมัก แสดงว่าจุลินทรีย์ชนิดดีกำลังทำงานอย่างเต็มที่ 
      แต่ถ้าจะนำน้ำหมักฯไปผสมเพื่อทำผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน(ทำสบู่ น้ำยาสระผม น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน)จะต้องหมักไว้อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้กระบวนการหมักสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ หากหมักไม่ถึง 3 เดือน กระบวนการหมักยังดำเนินต่อไป เมื่อผสมเป็นผลิตภัณฑ์แล้วเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ระยะหนึ่งจะทำให้กลิ่นของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนไปไม่น่าใช้ (จะมีกลิ่นคล้ายผลไม้ดอง) 
     น้ำหมักผลไม้บางสูตรโดยเฉพาะที่จะใช้กับผิว เช่น น้ำหมักชีวภาพมะเฟือง(ที่จะใช้ทำโลชั่นมะเฟืองหรือโทนเนอร์มะเฟือง) ต้องหมักนานถึง 1 ปี เพื่อให้กรดอินทรีย์แตกตัวเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุด ซึ่งมีหลายคนบอกว่าเมื่อใช้แล้วจะให้ผลดีกว่าน้ำหมักที่หมักในระยะเวลาสั้นๆ 

น้ำหมักชีวภ
าพจากผลไม้รสเปรี้ยวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง  เช่น
         - ใช้ล้างผักผลไม้ 
           
นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตรา1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 20 ส่วน) ใช้ล้างผักผลไม้ แล้วแช่ไว้ประมาณ 15 นาที จะช่วยล้างสารพิษตกค้างในผักผลไม้  ช่วยให้ผักกรอบขึ้น สดขึ้น และยืดอายุการเก็บรักษา(แต่ถ้าแช่นานเกินไป ผักจะเน่าเร็ว) 
        - ใช้ถูพื้น
           นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตรา ส่วน ต่อน้ำสะอาด 50 ส่วน) ใช้ทำความสะอาดเช็ดถูพื้น จะสลายคราบสกปรกได้ดี  พื้นสะอาด  คราบสกปรกจะไม่เกาะพื้นง่าย ห้องจะไม่มีกลิ่นเหม็นอับ
        - ใช้ผสมกับน้ำเช็ดกระจก
           นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตรา 1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 50 ส่วน) จะสลายคราบสกปรกได้ดี กระจกจะใสสะอาดเงางาม ฝุ่นผงไม่เกาะง่าย  และการทำความสะอาดกระจกครั้งต่อๆไปจะง่ายขึ้น     
        - ใช้ผสมกับน้ำทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์
           นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตรา 1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 20 ส่วน) จะสลายคราบสกปรกได้ดี เครื่องสุขภัณฑ์จะสะอาด เงางาม คราบสกปรกไม่เกาะง่าย และการทำความสะอาดครั้งต่อๆไปจะง่ายขึ้น     
        - ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาซักผ้า(10 %) หรือผสมกับน้ำซักผ้าโดยตรง(อัตรา 1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 5 ส่วน)
           แช่ผ้าไว้อย่างน้อย 30 นาที ผ้าจะสะอาดขึ้น ถึงแม้ว่าจะแช่ผ้าทิ้งไว้นานข้ามคืน น้ำที่แช่ผ้าจะไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าเหมือนกับการใช้ผงซักฟอกทั่วๆไป ผ้าที่แห้งแล้วจะไม่มีกลิ่นอับ เสื้อผ้าที่ใส่แล้วจะมีกลิ่นเหม็นน้อย    
        - ใช้ผสมกับน้ำสำหรับล้างจานชามที่ไม่มีคราบไขมัน 
          (อัตรา 1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 20 ส่วน) ล้างภาชนะให้สะอาดได้ง่ายขึ้น กำจัดเชื้อโรคและเชื้อรา     
       
ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาล้างจาน(10 %) จะช่วยสลายคราบสกปรกและไขมันได้ดีขึ้น ล้างภาชนะให้สะอาดได้ง่ายขึ้น ช่วยดับกลิ่นคาว กำจัดเชื้อโรคและเชื้อรา     
        - ใช้เป็นส่วนผสมในยาสระผม ครีมนวดผม
          
ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมในยาสระผมหรือครีมนวดผม(10 %) จะทำให้ผมสะอาด นุ่มสลวย ช่วยลดหรือยับยั้งการเกิดรังแค
        - ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่เหลวอาบน้ำ
         
ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมในสบู่อาบน้ำ(3-5 %) จะทำให้ผิวสะอาดชุ่มชื้น ไม่แห้งกราน ช่วยลดสิว ลดฝ้า ลดกลิ่นตัว ช่วยบำบัดรักษาโรคผิวหนังบางชนิด

      สรรพคุณเด่นของน้ำหมักผลไม้เปรี้ยวแต่ละชนิด 
         - น้ำหมักชีวภาพเนื้อมะกรูด(ใช้ผิวไปทำน้ำพริกแกงแล้ว)ใช้สำหรับซักผ้า ล้างจาน ล้างสุขภัณฑ์ ถูพื้น เช็ดกระจก ล้างห้องน้ำ มีคุณสมบัติ สลายไขมันและคราบสกปรกโดยทั่วไปได้ดี มีกลิ่นหอมของมะกรูด
         - น้ำหมักชีวภาพมะกรูดทั้งลูก(ทั้งเนื้อทั้งเปลือก) นิยมใช้ผสมในน้ำยาสระผม มีคุณสมบัติ สลายไขมันและคราบสกปรกบนหนังศีรษะได้ดีและบำรุงเส้นผมให้เงางาม ลดรังแค มีกลิ่นหอมของมะกรูดมาก
         - น้ำหมักชีวภาพมะเฟือง มีคุณสมบัติเด่นคือ เมื่อใช้ผสมในสบู่หรือผสมน้ำสำหรับล้างหน้า อาบน้ำ  คราบไครบนผิวหนังจะอ่อนตัวและหลุดออกง่ายขึ้น จะช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าได้ดี ช่วยลดสิว ทำให้ฝ้าจางลง ช่วยกระชับรูขุมขน ลดกลิ่นตัว 
         - น้ำหมักชีวภาพฝักส้มป่อย มีคุณสมบัติเด่นคือ เมื่อใช้ผสมน้ำล้างหน้า อาบน้ำ จะช่วยทำให้ผิวนุ่ม ชุ่มชื่น เมื่อใช้ผสมในครีมนวดผม มีคุณสมบัติ บำรุงเส้นผมให้นุ่มสลวย
         - น้ำหมักชีวภาพผลมะคำดีควาย มีคุณสมบัติเด่นคือ เมื่อใช้ผสมน้ำล้างหน้า อาบน้ำ จะช่วยลดผดผื่นคัน บรรเทากลากเกลื้อน เมื่อผสมในน้ำยาสระผม มีคุณสมบัติ ช่วยลดรังแค รักษาอาการชันตุ

2. น้ำหมักจากผลไม้รสฝาด 
           
ผลไม้ที่มีรสฝาด
เช่น มังคุด ทับทิม ลูกหว้า เปลือกมังคุด เปลือกทับทิม  จะมีกรดอินทรีย์ วิตามินซี ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม และมีสารแทนนิน  น้ำหมักที่ได้จะมีฤทธิ์เป็นกรดและมีความฝาด ซึ่งความฝาดนี้จะมีสรรพคุณในการสมานแผลและยับยั้งหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์จำพวกเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ จึงสามารถนำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้รสฝาดนี้ไปผสมน้ำอาบหรือผสมสบู่ล้างหน้า-อาบน้ำ จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบของสิวหรือแผลพุพองตามผิวหนัง ช่วยลดกลิ่นตัวได้ 
นอกจากนี้ยังนำไปใชในการป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียบางชนิดได้ด้วย
    

ส่วนผสม      1. ผลไม้รสฝาด (แก่จัด-ใช้ได้ทุกส่วน)                    3    กก.
               2. น้ำตาลทรายธรรมชาติ หรือกากน้ำตาล                1    กก. 
               3. น้ำสะอาด                                              10    ลิตร
               4. หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM) ชนิดน้ำ ปริมาณเล็กน้อย 

         อัตราส่วนและวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้รสฝาดคล้ายกับการทำน้ำหมักจากผลไม้รสเปรี้ยว   แต่ถ้าจะนำไปใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช  ควรเปลี่ยนส่วนผสมจากน้ำตาลทรายธรรมชาติมาเป็นกากน้ำตาลเพื่อลดต้นทุนการผลิต
     
 วิธีทำ 
         ผสมน้ำตาลทรายหรือกากน้ำตาลกับน้ำสะอาดในถังพลาสติกให้ละลายเข้ากันดี จากนั้นหั่นผลไม้ให้เป็นชิ้นเล็กๆ (สำหรับลูกหว้าควรตำให้เมล็ดแตก เพราะความฝาดจะอยู่ที่เมล็ดมากกว่า) ใส่ผลไม้ลงในถังที่ละลายน้ำตาลไว้ เติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM)ลงไปเล็กน้อย(ถ้าเคยหมักน้ำหมักชีวภาพมะเฟืองมาแล้ว อาจตักแผ่นวุ้นจากผิวหน้าน้ำหมักฯมะเฟืองมาใส่ก็ได้) ควรเลือกใช้ถังขนาดที่เมื่อใส่วัตถุดิบทั้งหมดแล้วเหลือที่อากาศเพียงเล็กน้อย(เหลือที่ประมาณ 1 ใน 10 ส่วน) แล้วปิดฝาถังให้สนิท หมักไว้อย่างน้อย 3 เดือน การหมักในระยะ 1-2 สัปดาห์แรกจะเกิดฟองอากาศขึ้นมาจำนวนมาก มีฝ้าสีขาวขึ้นที่ผิวด้านบนน้ำหมัก และมีกลิ่นหอมคล้ายไวน์ นั่นถือว่าการหมักได้ผลดี

การนำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้รสฝาดไปใช้ประโยชน์
        - ใช้ผสมน้ำล้างหน้า-อาบ
         
ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ 1 ส่วน ต่อน้ำ 30-50 ส่วน จะช่วยลดสิวอักเสบ ลดกลิ่นตัว ช่วยบำบัดและรักษาโรคผิวหนังบางชนิด
        - ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่เหลวอาบน้ำ
         
ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมในสบู่อาบน้ำ-ล้างหน้า (3-5 %) จะทำให้ผิวสะอาด ช่วยอาการอักเสบของสิว ช่วยลดกลิ่นตัว ช่วยบำบัดและรักษาโรคผิวหนังพุพองบางชนิด
        - ใช้ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
         
ใช้น้ำหมักชีวภาพ 30-50 ซี.ซี. ผสมน้ำ 20 ลิตร แช่เมล็ดพันธุ์พืชก่อนปลูก ช่วยป้องกันเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้าเน่าที่มีสาเหตุจากเชื้อรา หรือฉีดพ่นให้ต้นพืช ฉีดพ่นในแปลงปลูก เป็นประจำ หรือปล่อยไปกับน้ำที่ไขเข้าในนา จะช่วยป้องกันโรค ที่มีสาเหตุจากเชื้อราบางชนิดได้

3. น้ำหมักผลไม้รวม
           
การหมักผลไม้ที่มีรสหวานมันหรือผลไม้ที่มีเนื้อสีเหลือง-ส้ม-แดง โดยใช้ทั้งเปลือกและเมล็ด 
เช่น กล้วยสุก มะละกอสุก ฟักทองแก่จัด มะม่วงสุก ขนุนสุก ทุเรียนสุก ฯลฯ ใช้ผลไม้หลายๆชนิดหมักรวมกัน  น้ำหมักที่ได้จะมีคุณสมบัติเป็นฮอร์โมนบำรุงดอกและผล
 
           
ส่วนผสม   1. ผลไม้รสหวานมันหลายๆชนิด (แก่จัด-สุกงอม-ใช้ได้ทุกส่วน)      3    กก.
            2. กากน้ำตาล                                                          1    กก. 
            3. น้ำสะอาด                                                           10   ลิตร
            4. หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM)

วิธีทำ 
        หั่นผลไม้เป็นชิ้นเล็กๆ คลุกเคล้าผลไม้กับกากน้ำตาลและหัวเชื้อจุลินทรีย์ ใส่ลงในถังพลาสติก ควรเลือกใช้ถังขนาดที่เมื่อใส่วัตถุดิบทั้งหมดแล้วเหลือที่อากาศเพียงเล็กน้อย(เหลือที่ประมาณ 1 ใน 10 ส่วน) จากนั้นปิดฝาถังให้สนิท หมักไว้จนครบ 7 วัน จึงเปิดฝาถัง เติมน้ำสะอาด 10 ลิตร คนส่วนผสมให้เข้ากัน  แล้วปิดฝาถังให้สนิทหมักต่อไปและต้องหมักไว้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงจะนำมาใช้ได้ เพื่อให้ปูนขาวที่อยู่ในกากน้ำตาลสลายตัวจนหมดหรือยิ่งหมักนานๆยิ่งดี ถ้ากากน้ำตาลในน้ำหมักฯยังสลายตัวไม่หมดแล้วนำน้ำหมักฯมาใช้กับพืชติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่งอาจจะเกิดอันตรายต่อพืชได้ เพราะจะทำให้หน้าดินแข็งหรืออาจมีศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยและมดมาทำลายพืชได้ 

การนำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้รวมไปใช้ประโยชน์
        
        - ใช้บำรุงต้นพืชจำพวกไม้ดอกและไม้ผล
         
ใช้น้ำหมักชีวภาพ  1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ต้นพืชหรือฉีดพ่นในแปลงปลูกเป็นประจำ จะช่วยบำรุงให้พืชออกดอกออกผลดี ผลไม้รสชาติอร่อย
 

 

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view