http://krupawana.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

สถิติ

เปิดเว็บ17/03/2010
อัพเดท19/03/2023
ผู้เข้าชม1,195,662
เปิดเพจ2,065,206

อนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อยากให้อ่านตรงนี้ก่อน

กำเนิดของเศรษฐกิจพอเพียง

พ่อหลวงในดวงใจของฉัน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน

วิธีทำผลิตภัณฑ์ชีวภาพในครัวเรือนสูตรชีวภาพ

ทำการเกษตรวิธีอินทรีย์ชีวภาพดีกว่าใช้สารเคมี

การพึ่งพาภูมิปัญญาอย่างพอเพียง

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
iGetWeb.com
AdsOne.com

น้ำหมักชีวภาพ เทคโนโลยีชาวบ้านเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง พลังมหํศจรรย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์

         คุณรู้จักน้ำหมักชีวภาพมากน้อยแค่ไหน ?

         
ปัจจุบันมีการพูดถึงน้ำหมักชีวภาพกันมากขึ้น แต่การพูดถึงมีหลากหลายแง่มุม มีทั้งที่เข้าใจและไม่เข้าใจ เชื่อถือและไม่เชื่อถือ ยอมรับและไม่ยอมรับ แล้วน้ำหมักชีวภาพที่คุณรู้จักเหมือนกับที่กำลังจะพูดถึงนี้หรือไม่
 
         ฉันเริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพมาตั้งแต่ พ.ศ.2541 ด้วยความรู้จากการเป็นนักศึกษาเกษตร เกี่ยวกับเรื่องอินทรีย์วัตถุ ฮอร์โมนพืช ธาตุอาหารพืช จุลินทรีย์ ในวิชาเคมีฯ ชีวะฯ วิชาดินและปุ๋ย วิชาโรคและศัตรูพืช ฉันได้นำเอามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังก็ครั้งนี้เอง โดยนำมาเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจุลินทรีย์ การดำรงชีวิตและการทำงานของจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์  นอกจากนี้แล้วฉันยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารและตำราต่างๆบ้าง ตลอดจนการการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับบุคคลต่างๆบ้าง ทำให้อดใจไม่ได้ที่จะลองวิชาของตัวเองดูซิว่ามีระดับไหน ฉันได้ทดลองทำน้ำหมักชีวภาพสูตรต่างๆขึ้นมาหลายสูตร(คิดสูตรเองบ้าง ลองทำตามสูตรของคนอื่นบ้าง) สรุปได้ว่า "น้ำหมักชีวภาพ ก็คือของเหลวที่ได้จากการหมักพืชหรือสัตว์ โดยมีการใช้จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อให้ได้สารบางชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้นั่นเอง ซึ่งสูตรการทำน้ำหมักชีวภาพมีมายมายเป็นร้อยๆสูตรโดยใช้วัตถุดิบแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งาน และความสะดวกหรือความยาก-ง่ายในการจัดหาวัตถุดิบ แต่ก็มีกลักการทำเหมือนกันคือนำวัตถุดิบจากพืชหรือสัตว์ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการจะนำไปใช้ประโยชน์ มาหมักกับสารอาหารที่มีความหวานและให้พลังงาน เช่น กากน้ำตาล น้ำตาลทราย น้ำตาลปึก น้ำตาลอ้อย น้ำมะพร้าว ฯลฯ และเติมจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์(EM)ลงไป เพื่อให้จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์มาช่วยเร่งกระบวนการหมักให้เร็วขึ้น ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์กลุ่มทำลายที่จะมาทำให้น้ำหมักเกิดการบูดเน่า และช่วยเสริมประสิทธิภาพของน้ำหมักให้ดียิ่งขึ้น  ฉันได้นำน้ำหมักชีวภาพมาทดลองใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันหลากหลายอย่าง จนเห็นผลว่าดีจริงหลายประการ จึงเกิดความคิดอยากจะแบ่งปันความรู้และแบ่งปันน้ำหมักฯ ที่มีอยู่ให้กับญาติสนิท มิตรสหายให้ได้ใช้ของดี ราคาถูก(ที่จริงแล้วพวกเขาไม่ต้องจ่ายเงินเลยเพราะฉันให้เขาไปใช้ฟรีๆ แต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน คนทั่วไปยังไม่รู้จักEM ไม่รู้จักน้ำหมักชีวภาพ ไม่เคยได้ยิน อยู่ๆมีจะมาบอกว่าน้ำหมักชีวภาพ หรือEM หรือผลิตภัณฑ์ชีวภาพนี้ดีนะ มีประโยชน์นะ ทำโน่นทำนี่ได้หลากหลายเกือบ 30 อย่าง กลับถูกมองว่าเป็นพวกไม่ค่อยปกติ โกหก โม้ บ้า งมงาย เพ้อฝัน เว่อร์ ซึ่งตอนนั้นฉันเคยถูกมองอย่างนี้มาแล้ว  ในเวลานั้นฉันรู้สึกโดดเดี่ยวพอควร ได้แต่คิดว่าในเมื่อมันเป็นความจริง คนอื่นไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร เราจะทำของเราอย่างนี้    โดยส่วนตัวนั้น ฉันจะพยายามใช้ภูมิปัญญาพึ่งพาตนเองให้มากเท่าที่จะทำได้ พยายามใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และลดการทำลายสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ฉันชอบปลูกต้นไม้จึงทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากใบไม้และเศษอาหารไว้ใช้เอง และทำน้ำหมักชีวภาพไว้หลายสูตร ทั้งสูตรที่นำมาใช้งานต่างๆโดยตรง เช่น ถูพื้น เช็ดกระจก เทลงท่อระบายน้ำ ฯลฯ และสูตรที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาสระผม ครีมนวดผม สบู่ก้อน สบู่เหลว ฯลฯ   ในเวลาต่อมามีสื่อต่างๆทั้ง ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และวารสารต่างๆ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพและประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพ จนกระทั่งปีพ.ศ.2550 ฉันได้อ่านพบ บทความที่ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนถึงการใช้น้ำหมักชีวภาพ ในวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 8/2550 ฉันจึงต้องเก็บวารสารเล่มนี้ไว้เป็นต้นฉบับสำหรับการอ้างอิงว่า น้ำหมักชีวภาพมีประโยชน์จริงๆ และมีมากมายหลายสูตร และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เกือบ 30อย่าง ฉันไม่ได้พูดอย่างเลื่อนลอยไม่มีหลักฐาน และได้เผยแพร่ความรู้และแนวคิดนี้ไปยังคนรอบๆข้าง ทั้งนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และผู้ที่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยให้ไปทดลองทำ ทดลองใช้ คนที่ไม่รู้จักน้ำหมักชีวภาพมักจะรู้สึกว่ามันเหม็น ซึ่งจริงๆแล้วมันเป็นกลิ่นที่เราไม่คุ้นเคย และมันไม่หอมเหมือนน้ำหอมก็เท่านั้นเอง  ต้องลองใช้จึงจะเห็นผลด้วยตัวคุณเอง  ถ้าคุณสนใจข้อมูลเพิ่มเติมว่าน้ำหมักชีวภาพมีพลังมหัศจรรย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างไรละก็ โปรดอ่านให้จบ 

         น้ำหมักชีวภาพ  หมายถึง ของเหลวที่ได้จากการนำอินทรีย์วัตถุ(สิ่งที่ได้จากพืช หรือสัตว์) ไปหมักตามกระบวนการ โดยมีการใช้จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์(EM)เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อให้ได้สารบางชนิด ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่างๆของมนุษย์ 

        สูตรการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการเกษตร ด้านสุขภาพ และด้านสิ่งแวดล้อมนั้น มีมากมายหลายสูตร โดยจะใช้วัตถุดิบแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งาน และความยาก-ง่ายในการจัดหาวัตถุดิบของแต่ละคน แต่ละท้องถิ่น แต่ก็มีหลักการเหมือนๆกัน คือ การใช้สารอาหารที่มีความหวานและให้พลังงาน เช่น กากน้ำตาล น้ำตาลทรายธรรมชาติ น้ำตาลปีบ น้ำอ้อย หรือน้ำมะพร้าว ไปใช้ในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์(EM)ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากๆ เพื่อให้มาช่วยเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ และช่วยลดปริมาณหรือยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์กลุ่มทำลาย  ฉะนั้นหากท่านจะทำน้ำหมักฯ จึงสามารถเลือกสูตร หรือประยุกต์ใช้วัตถุดิบได้ตามความเหมาะสม
      ใน
บทความเรื่องนี้จะไม่ได้บอกสูตรและวิธีการทำไว้ แต่คิดว่าคุณคงหาได้ไม่ยาก เพียงค้นหาจากคำว่า"สูตรน้ำหมักชีวภาพ" หรือ "การทำน้ำหมักชีวภาพ" ก็ได้เยอะแล้ว และคุณอาจทดลองคิดค้นสูตรใหม่ๆด้วยตัวคุณเองก็ได้

         อยากให้คุณๆที่สนใจหรืออาจเพิ่งเคยรู้จักกับน้ำหมักชีวภาพได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และทดลองนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างง่ายๆดูบ้าง แล้วจะรู้ว่าชีวิตที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้นี้มีดีมากมาย

วัตถุดิบสำหรับทำน้ำหมักชีวภาพ
  
    
         วัตถุดิบที่จะนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำหมักชีวภาพนี้
จะเลือกใช้วัตถุดิบอะไรมาหมัก ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้ไปใช้ประโยชน์อะไร  แต่ควรเลือกใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายใกล้ๆตัว ราคาถูก ถ้าไม่ต้องซื้อก็ยิ่งดีมากๆ (หรืออาจเลือกวัตถุดิบที่คนอื่นๆเขาไม่ต้องการหรือคิดว่ามันเป็นขยะแล้ว) วัตถุดิบที่สำคัญได้แก่

     1. อินทรีย์วัตถุ   มี 2 ประเภท คือ จากพืชสด และ จากซากสัตว์
         1.1 พืชสด 
เลือกใช้พืชที่ยังสดใหม่ ไม่เป็นโรค และไม่เน่า ไม่ต้องล้างน้ำทำความสะอาด นำมาใช้
ได้ทุกส่วน ได้แก่ ผลไม้ดิบ  ผลไม้สุก  วัชพืชสด เมล็ดพืชสด  เปลือกผักหรือผลไม้ ลำต้น  ใบ  ดอก  เปลือก  เนื้อ  เมล็ด
         1.2 ซากสัตว์  เลือกใช้ซากสัตว์ที่ตายใหม่ๆ ไม่เน่า ไม่ได้ตายจากการเป็นโรค และใช้ได้ทุกส่วนไม่ว่า  เนื้อ ขน  กระดูก  เกล็ด  ก้าง  เลือด   เมือก   เครื่องใน 

     2. จุลินทรีย์ชนิดสร้างสรรค์  ได้แก่ จุลินทรีย์ชนิดแห้งหรือชนิดน้ำที่มีจำหน่ายในท้องตลาด  เชื้อ พด.ของกรมพัฒนาที่ดิน นมเปรี้ยว โยเกิร์ต หัวเชื้อแป้งข้าวหมาก หรือจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในอาหารหมักดองที่มีกลิ่นปกติและมีรสดี และจุลินทรีย์ที่เกิดในผลไม้ที่ใช้ทำไวน์ได้ เช่น สับปะรด องุ่น มะเฟือง ที่แก่จัดสุกงอม(รวมถึงเปลือกสับปะรดที่ปอกทิ้ง) 

     3. สารอาหารที่มีความหวานและให้พลังงาน เช่น กากน้ำตาล  น้ำตาล  น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว (เลือกใช้ตามความเหมาะสม)  

     4. ตัวเสริมประสิทธิภาพ  (จะไม่ใช้ตัวเสริมประสิทธิภาพเลยก็ได้ จะใช้อย่างเดียวหรือหลายอย่างผสมกันก็ได้ เช่น น้ำมะพร้าว ไข่สด น้ำนมเปรี้ยว น้ำนมสดชนิดจืด วิตามิน อาหารเสริม ปุ๋ยคอกสด  มูลสัตว์กินเนื้อ)

อุปกรณ์สำหรับหมักน้ำหมักชีวภาพ 

     อุปกรณ์ในการหมักน้ำหมักชีวภาพ ให้ใช้ภาชนะพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิท (ถ้าจะทำเพื่อการบริโภค ต้องใช้โหลแก้ว) ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะเพราะกระบวนการหมักทำให้เกิดกรด กรดจะทำปฏิกิริยากัดกล่อนโลหะ และควรใช้ขนาดที่เมื่อใส่วัตถุดิบและส่วนผสมทั้งหมดในภาชนะแล้วให้เหลือที่อากาศเพียงเล็กน้อย

กระบวนการทำน้ำหมักชีวภาพ

    
การทำน้ำหมักชีวภาพให้ได้ผล จะต้องเน้นที่ความสะอาด โดยใช้วัตถุดิบสะอาด ใช้น้ำสะอาด ภาชนะหมักสะอาด วิธีการทำสะอาด ถ้ามีความสกปรกเมื่อใดนั่นหมายถึงคุณกำลังเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เชื้อโรค

การนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้ประโยชน์

     อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าน้ำหมักชีวภาพมีมากมายหลายสูตร จะนำไปใช้ประโยชน์อะไรต้องเลือกให้เหมาะสม และใช้ให้ถูกวิธี จึงจะเห็นผล ถ้าใช้ไม่ถูกต้องจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี 
     


      จากบทความที่ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เขียนถึงการใช้น้ำหมักชีวภาพในวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 8/2550 ท่านได้กล่าวถึงประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพในชีวิตประจำวันไว้เกือบ 30อย่าง

ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพ 
 
1. ใช้ประโยชน์ในด้านการเลี้ยงสัตว์

    1. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารของสัตว์  
              การใช้น้ำหมักชีวภาพเจือจางให้สัตว์กินเป็นประจำ ในอัตรา 1 ส่วนต่อน้ำ 1,000 ส่วน จะทำให้สัตว์ย่อยอาหารได้ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้าสัตว์กินอาหารประเภทพืชสดหรือหญ้าสด จะช่วยประหยัดอาหารสัตว์
ได้ถึง 30 % เพราะกระบวนการย่อยและดูดซึมสารอาหารจะดีขึ้น

    2. ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคให้แก่สัตว์  
              การใช้น้ำหมักชีวภาพเจือจางผสมในอาหารสัตว์หรือน้ำดื่ม ให้สัตว์ดื่มกินเป็นประจำ ในอัตรา
1 ส่วนต่อน้ำ 1,000 ส่วน จะทำให้สัตว์แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น ช่วยลดความเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จากการเปลี่ยนสูตรอาหารในระยะต่างๆของการเจริญเติบโต และจากการขนย้ายสัตว์
 

    3. ช่วยเพิ่มผลผลิต  
              การใช้น้ำหมักชีวภาพเจือจางผสมในอาหารสัตว์หรือน้ำดื่ม ให้สัตว์ดื่มกินเป็นประจำ ในอัตรา
1 ส่วนต่อน้ำ 1,000 ส่วน จะทำให้สัตว์ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีลูกดกขึ้น ไข่ดกขึ้น ปริมาณน้ำนมมากขึ้น


    4. ช่วยลดกลิ่นเหม็นในคอกสัตว์ หรือในฟาร์ม

              การใช้น้ำหมักชีวภาพเจือจางผสมในอาหารสัตว์หรือน้ำดื่ม ให้สัตว์ดื่มกินเป็นประจำ ในอัตรา
1 ส่วนต่อน้ำ 1,000 ส่วน จะทำให้มูลสัตว์มีกลิ่นเหม็นน้อยลง และถ้าใช้น้ำหมักชีวภาพ ในอัตรา 1 ส่วนต่อน้ำ 100 - 300 ส่วน ฉีดล้างคอกสัตว์เป็นประจำ จะช่วยลดกลิ่นเหม็นในคอกหรือในฟาร์ม ส่วนน้ำล้างคอกสัตว์
ถ้านำไปบำบัดอย่างถูกวิธี จะนำไปรดต้นไม้หรือแปลงหญ้าอาหารสัตว์ได้โดยไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม

    5. ช่วยป้องกันน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเน่าเสีย
        การใช้น้ำหมักชีวภาพในอัตรา 1 ลิตร ต่อปริมาณน้ำในบ่อ 10 ลูกบาศก์เมตร ใส่ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
เป็นประจำทุกๆ 7-10 วัน (แล้วแต่สภาพน้ำและความหนาแน่นของสัตว์เลี้ยง) จะช่วยลดความเน่าเสียของน้ำ ทำให้ไม่ต้องถ่ายน้ำบ่อยๆ หรืออาจไม่ต้องถ่ายน้ำในบ่อเลย

 2. ใช้ประโยชน์ในด้านการเพาะปลูกพืช

        การใช้ประโยชน์จากน้ำหมักชีวภาพในด้านการเพาะปลูกพืช ส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นที่การใช้เป็นปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้พืชโดยตรง  แต่จะเป็นการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ให้ไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับกระบวนการปลูกพืชมากกว่า เพราะในน้ำหมักชีวภาพจะมีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม หรือ กรดอะมิโนและสารอื่นๆ ในปริมาณมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาใช้หมัก  แต่จะนิยมใช้ในกิจกรรมต่อไปนี้มากกว่า
 
    1. ช่วยลดแรงงาน เวลา และค่าใช้จ่ายในการกำจัดชิ้นส่วนของพืชที่เหลือทิ้งจากการเพาะปลูก  
            โดยนำชิ้นส่วนของพืชที่เหลือจากแปลงเพาะปลูก มาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ในการเกษตร โดยไม่ต้องขนไปทิ้ง ไม่ต้องเผา

    2. ช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น
            โดยนำน้ำหมักชีวภาพผสมกับน้ำให้เจือจาง ในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 1,000 ส่วนรดลงบนดินที่มีอินทรีย์วัตถุผสมอยู่เป็นประจำ จะช่วยปรับสภาพของดินให้ดีขึ้น โดยจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ จะไปย่อยอินทรียวัตถุให้สลายตัวเป็นธาตุอาหารพืชได้เร็วขึ้น และดินจะโปร่งขึ้น การอุ้มน้ำและการระบายอากาศจะดีขึ้น
   
    3. ช่วยป้องกัน/กำจัดแมลงศัตรูพืชและโรคพืช

             การนำพืชที่มีสารออกฤทธิ์ในการขับไล่หรือกำจัดแมลงศัตรูพืชและโรคพืช มาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ เช่น สะเดา ตะไคร้หอม บอระเพ็ด ขิง ข่า สาบเสือ ฯลฯ แล้วผสมกับน้ำให้เจือจางในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 500 ส่วน ฉีดพ่นให้ต้นพืชอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันและหรือกำจัดแมลงศัตรูพืชและโรคพืชบางชนิดได้
   
    4. ช่วยผลิตฮอร์โมนพืช และสารเร่งการเจริญเติบโตของพืช
             การนำส่วนของพืชที่มีสารกระตุ้นในการผลิตฮอร์โมนพืช เช่น ส่วนยอดของพืช ส่วนดอก หรือผล รวมถึงน้ำมะพร้าว  ฯลฯ มาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ แล้วผสมกับน้ำให้เจือจางในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 1,000 ส่วน ฉีดพ่นให้ต้นพืชอย่างสม่ำเสมอ จะเร่งการเจริญเติบโตส่วนต่างๆของพืชได้

3. ใช้ประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม

    1. ช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น 
             นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 200 ส่วนรดลงบนพื้นหรือฉีดพ่นไปตามกอหญ้ารอบๆบริเวณบ้านเป็นประจำ จะช่วยไล่แมลง และขจัดกลิ่นเหม็นรอบๆบ้านได้

   2. ใช้บำรุงสนามหญ้า
             นำน้ำหมักชีวภาพ ผสมน้ำเจือจางในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 1,000 ส่วน ฉีดพ่นให้สนามหญ้า
หลังจากตัดหญ้า อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สนามหญ้าสมบูรณ์ขึ้น

    3. ใช้ดับกลิ่นเหม็นของท่อระบายน้ำ
             นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 200 ส่วน เทลงในท่อระบายน้ำเป็นประจำ
จะช่วยดับกลิ่นเหม็นของท่อระบายน้ำได้

    4.  ใช้ทำความสะอาดตลาดสด
             น้ำที่ล้างพื้น ถ้านำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 200 ส่วน จะช่วยให้การทำความสะอาดพื้นง่ายขึ้น หรือใช้ราดพื้นเป็นขั้นสุดท้ายหลังจากที่ล้างแล้ว จะช่วยขจัดกลิ่นเหม็นและไล่แมลงต่างๆได้

    5. ใช้ดับกลิ่นเหม็นและลดการอุดตันของท่อระบายน้ำ
             นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 50 ส่วน เทลงในท่อระบายน้ำ กลิ่นเหม็นจะลดลง และจะช่วยลดการอุดตันของท่อระบายน้ำ

   6. ใช้บำบัดน้ำเสีย
             น้ำหมักชีวภาพเทใส่ในบ่อบำบัดน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำที่จะบำบัด 500 ส่วน จะช่วยบำบัด
น้ำเสียได้

4. ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน

    1. ใช้ในการอาบน้ำ ล้างหน้า 
              นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 30 ส่วน อาบน้ำหรือล้างหน้า เป็นประจำ จะช่วยลดกลิ่นตัว ลดสิว ลดฝ้ารักษาโรคผิวหนัง

    2. ใช้ในการสระผม 
              นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน สระผม เป็นประจำ ผมจะสะอาด นุ่ม และช่วยลดรังแค แก้คันศีรษะ (ถ้าใช้น้ำหมักชีวภาพจากใบส้มป่อย หรือใบหมี่ จะทำให้ผมนุ่มสลวยเป็นเงางาม)

    3. ใช้ในการซักผ้า
              นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 5 ส่วน แช่ผ้าทิ้งไว้ 10 นาที แล้วซัก จะช่วยให้ผ้าสะอาด เนื้อผ้านุ่ม คงทน ดับกลิ่นอับ และช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย

    4. ใช้แปรงฟัน
              การใช้แปรงสีฟันจุ่มน้ำหมักชีวภาพเพียงเล็กน้อย แปรงฟันจนสะอาด แล้วบ้วนน้ำล้างปากให้สะอาด จะช่วยขจัดคราบหินปูนและลดกลิ่นปากได้ ถ้าใช้เป็นประจำจะช่วยลดอาการเสียวฟัน ป้องกันฟันผุ
(แต่ไม่ควรใช้ในเด็กเพราะฟลูออไรด์ที่เคลือบฟันอาจถูกสลายจากความเป็นกรดของน้ำหมักชีวภาพชนิดเข้มข้น และไม่ต้องตกใจว่าการใช้น้ำหมักชีวภาพแปรงฟันจะไม่เป็นอันตรายหรือ เพราะนมเปรี้ยวที่เราดื่มกันนั้นก็เป็นน้ำหมักชีวภาพชนิดหนึ่งเหมือนกัน)

    5. ใช้บ้วนปาก
              การใช้น้ำหมักชีวภาพผสมในการทำน้ำยาบ้วนปาก(ศึกษาได้จากสูตรการทำน้ำยาบ้วนปาก)ในอัตราส่วนที่เหมาะสม จะมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็โทษที่อยู่ในช่องปากได้

    6. ใช้ล้างจาน 
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำ 20 ส่วน ล้างจาน หรือใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักจากผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะกรูด หรือมะนาว หรือสับปะรด หรือมะเฟือง 1 ส่วน ผสมน้ำยาล้างจาน 5 ส่วน จะช่วยขจัดคราบไขมันได้ดีขึ้น

    7. ใช้ล้างสารพิษตกค้างในผักและผลไม้
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำ 100 ส่วน แช่ไว้นาน 45 นาที หรือ ใช้น้ำหมักชีวภาพเข้มข้น  แช่ไว้นาน 20 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง จะช่วยลดสารพิษ ทำให้ผักผลไม้กรอบขึ้น และเก็บได้นานขึ้น

    8. ใช้ล้างห้องน้ำ  
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำ 10 ส่วน ราดทิ้งไว้ 10 นาที แล้วขัดถูล้างห้องน้ำ จะช่วยขจัดคราบสกปรก กำจัดกลิ่นเหม็น ฆ่าเชื้อโรค

    9. ใช้ถูพื้น 
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำ 10 ส่วน ซักผ้าถูพื้น จะช่วยขจัดคราบสกปรก  กำจัดกลิ่นเหม็น
และฆ่าเชื้อโรคที่พื้น

     10. ใช้เช็ดกระจก 
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำ 10 ส่วน ชุบน้ำเช็ดคราบสกปรก  แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดตามทันทีอีกครั้งให้สะอาด  จะช่วยขจัดคราบสกปรกได้ดี  กระจกใสสะอาด ฝุ่นเกาะน้อยลง

     11. ใช้ล้างรถ 
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำ 10 ส่วน ล้างคราบสกปรก  แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดตามทันทีอีกครั้งให้สะอาด  จะช่วยขจัดคราบสกปรกได้ดี  สะอาดเงางาม  ฝุ่นเกาะน้อยลง

     12. ใช้ไล่แมลงวัน มด ยุง แมลงสาบ
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วนผสมน้ำ 10 ส่วน ฉีดพ่นในบ้าน ในห้องต่างๆทุกซอกทุกมุม และรอบๆบริเวณบ้านเป็นประจำ อากาศในห้องจะดีขึ้น และจะค่อยๆช่วยลดปริมาณแมลงต่างๆได้

     13.  ใช้กำจัดกลิ่นเหม็นและลดการอุดตันของท่อในห้องครัว ห้องน้ำ ห้องส้วม
              นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 50 ส่วน ล้างทำความสะอาดพื้นและสุขภัณฑ์ต่างๆ จะทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น กลิ่นเหม็นจะลดลงและช่วยลดการอุดตันของท่อน้ำในห้องครัว ห้องน้ำห้องส้วม

     14. ใช้บำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยทิ้ง
              ใส่น้ำหมักชีวภาพเทใส่ในบ่อบำบัดน้ำ ในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำที่จะบำบัด 500 ส่วน จะช่วยบำบัด
น้ำเสียได้

     15. ใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำ 10 ส่วน เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยขจัดคราบสกปรกได้ดี

     16. ใช้ทำความสะอาดเครื่องใช้ประเภทเซรามิก เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องประดับต่างๆ  
              ใช้น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน ผสมน้ำ 100 ส่วน เช็ดล้างทำความสะอาดจะช่วยขจัดคราบสกปรกได้ดี

 

            " ไม่ลอง ไม่รู้ 
             ไม่ดู     ไม่เห็น 
             ไม่ทำ   ไม่เป็น
             ไม่ใช้    ไม่........"

   

 

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view