http://krupawana.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

สถิติ

เปิดเว็บ17/03/2010
อัพเดท19/03/2023
ผู้เข้าชม1,196,726
เปิดเพจ2,066,282

อนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อยากให้อ่านตรงนี้ก่อน

กำเนิดของเศรษฐกิจพอเพียง

พ่อหลวงในดวงใจของฉัน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน

วิธีทำผลิตภัณฑ์ชีวภาพในครัวเรือนสูตรชีวภาพ

ทำการเกษตรวิธีอินทรีย์ชีวภาพดีกว่าใช้สารเคมี

การพึ่งพาภูมิปัญญาอย่างพอเพียง

ปฎิทิน

« April 2024»
SMTWTFS
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930    
iGetWeb.com
AdsOne.com

ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้น มีผลดีกับชีวิตอย่างไร?


    ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจำเป็นจะต้องร่วมมือกันประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด 
 
         ด้วยเหตุผลที่ว่าในปัจจุบัน ทั้งคน พืช สัตว์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างใหญ่หลวงจากการที่ในสิ่งแวดล้อมมีสารเคมีตกค้างมากเกินไป ในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะหลีกหนีไม่พ้นจากสารเคมีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สารเคมีจากการทำเกษตรกรรม 
       การใช้สารเคมีปริมาณมากในการเกษตรมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ยุคปฏิวัติเขียวของการผลิตข้าว(ประมาณกลาง ค.ศ.1960 หรือ กลาง พ.ศ. 2503)ที่มีการเร่งผลิตข้าวเพื่อการค้ามากขึ้น จึงต้องใช้สารเคมีในปริมาณสูงมากเพื่อเร่งให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก และเพื่อปกป้องพืชให้รอดพ้นจากการทำลายโรค แมลง 
      สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ(IRRI)ได้ค้นพบข้าวพันธุ์มหัศจรรย์หรือที่เรียกว่า IR 8 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ทุกฤดูและมีการตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีดี เมื่อนำไปเพาะปลูกในพื้นที่มีระบบชลประทานดีจะให้ผลผลิตสูง ในหลายพื้นที่ได้นำข้าวสายพันธุ์ IR 8 ไปปรับปรุงให้เข้ากับพันธุ์พื้นเมืองเดิมตามสภาพแวดล้อมของการผลิตและรสชาติของข้าวที่ประชากรของในแต่ละพื้นที่ต้องการ
      ในประเทศไทย กรมการข้าว ได้ใช้แม่พันธุ์ IR8 มาผสมกับข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ชื่อ เหลืองทอง ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ชื่อ กข.1 มีลักษณะไม่ไวต่อช่วงแสง(ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของเราเป็นข้าวไวแสง คือจะออกดอกก็เมื่อได้รับแสงวันสั้นหรือในฤดูหนาว)  และได้นำข้าวสายพันธุ์ กข.1ออกเผยแพร่ในราว พ.ศ.2512
      หลังจากนั้นเป็นต้นมา นักวิชาการเกษตรสาขาต่างๆก็ได้เร่งพัฒนาการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวและสายพันธุ์พืชอื่นๆเพิ่มขึ้นอีกมากมาย ส่งผลให้มีการเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น    มีการบุกรุกแผ้วถางป่ากันอย่างมากเพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วก็มีการเผาซากตอซังพืชเพื่อให้ง่ายต่อการไถเตรียมดินสำหรับปลูกพืชรุ่นใหม่ต่อไป และมีการเพิ่มรอบการผลิตโดยมีการปลูกพืชซ้ำๆในแปลงเพาะปลูกเดิมตลอดทั้งปี 
      
จากสาเหตุที่กล่าวมาทำให้ดินในพื้นที่การเกษตรเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินก็ลดลง แมลงและศัตรูพืชต่างๆที่เคยอยู่ในป่าก็ย้ายถิ่นอาศัยจากป่าเข้ามาอยู่ในแปลงเพาะปลูกพืช  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการปลูกพืชในแปลงนั้นๆต่อเนื่องวำๆกันไปตลอดทั้งปี ทำให้วงจรชีวิตของศัตรูพืช ทั้งแมลงและเชื้อโรค มีอาหารและที่อยู่อาศัยเหมาะสมกับการดำรงชีวิต จึงส่งผลให้แมลงศัตรูพืชและเชื้อโรคต่างๆเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้เกษตรกรต้องพบปัญหาสำคัญในการเพาะปลูกหลายประการ อันเป็นสาเหตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก จนบางครั้งสูงกว่าราคาขายผลผลิต เช่น ต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่ลงในดินเพื่อทดแทนธาตุอาหารพืชที่สูญเสียไปจากการเผาตอซังและเพื่อเร่งให้พืชเติบโตรวดเร็วทันต่อความต้องการ ต้องนำสารเคมีชนิดต่างๆมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ทั้งเชื้อโรค แมลง และวัชพืช ซึ่งนับวันมีแต่จะเพิ่มปริมาณขึ้นจากเดิมอย่างมากและรวดเร็ว แต่เนื่องจากตามธรรมชาตินั้น เชื้อโรค แมลงศัตรูพืช และวัชพืชต่างๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และมีวงจรชีวิตสั้น จึงสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความต้านทานต่อสารเคมีได้ในระยะเวลาไม่นานนัก  เกษตรกรจึงต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารเคมีขึ้น หรือเพิ่มความรุนแรงของสารเคมีอยู่เสมอ จึงจะมีผลผลิตเหลือพอให้เก็บเกี่ยวไปขายได้ 
      นอกจากนี้แล้วเมื่อมีฝนตก ตามธรรมชาติของน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ น้ำก็ได้ชะล้างเอาสารเคมีต่างๆลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ทะเล และมหาสมุทร ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ที่เราจับมากินกันทุกวันนี้ก็ล้วนแต่มีสารเคมีสะสมอยู่ปริมาณน้อยหรือมากแตกต่างกันไปตามแหล่งอาศัย และพฤติกรรมความเป็นอยู่
     แต่ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือนิสัยการอุปโภคบริโภคของเราเองในทุกวันนี้ด้วย ซึ่งในการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วไปยังมีการใช้สารเคมีต่างๆในกิจวัตรประจำวันมากเกินความจำเป็นอีกหลายประการ ทั้งการทำอาหาร การซักผ้า การทำความสะอาดร่างกาย การทำความสะอาดบ้าน การกำจัดแมลงหรือศัตรูในที่อยู่อาศัย ฯลฯ 
      จากการกระทำดังกล่าวจึงส่งผลให้ทำร่างกายของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ มนุษย์ พืชและสัตว์ รวมถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ และย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ อาหาร อากาศ รอบๆตัวเราเต็มไปด้วยสารพิษ ทำให้มีโรคภัยไข้เจ็บชนิดใหม่ๆที่ไม่เคยพบมาก่อนเกิดขึ้นมากมาย หรืออาการของโรคต่างๆที่เกิดขึ้นก็มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต  
        
ด้วยเหตุนี้เราทุกคนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือกันฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยต้องร่วมมือร่วมกันในการหันกลับมาใช้ชีวิตที่เกื้อกูลธรรมชาติให้มากขึ้น  จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนความคิดและการปฏิบัติของตนเอง ด้วยการน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่าด้วยการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง(ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว) มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติเพื่อความสงบสุขของชีวิตตนเองและสังคมส่วนรวม 
       สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ในเบื้องต้น เช่น ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น ทั้งที่เป็นปัจจัย 4 และสิ่งฟุ่มเฟือยทั้งหลาย(ไม่ได้ให้ขี้เหนียวแต่ให้ใช้เท่าที่จำเป็น) ลดปริมาณการทิ้งขยะ ลดปริมาณการใช้สารเคมีที่เกินความจำเป็น ลดปริมาณการทิ้งสารเคมีลงในสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฯลฯ และการนำความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้คุณลดปริมาณการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น แถมยังช่วยให้ประหยัดเงิน และลดรายจ่ายด้วย ตัวอย่างเช่น
        -ในการปรุงอาหาร ก็ต้องมีการศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเกี่ยวกับเคล็ดวิชาในการทำอาหารให้มีคุณภาพ โดยหันมาใช้สารที่ได้จากธรรมชาติในการแต่งกลิ่น แต่งสี เสริมความกรอบ-นุ่ม ของอาหาร หรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีบางชนิดให้มากที่สุด เช่น ผงชูรส ผงกรอบ ผงเปื่อย ผงบอแรกซ์  ขัณฑสกร ดินประสิว สีและกลิ่นสังเคราะห์ ฯลฯ 
        -ในการทำความสะอาดซักล้าง หรือการสุขาภิบาลต่างๆ ก็ใช้น้ำหมักชีวภาพทดแทนการใช้ผงซักฟอก
        -ในการบำบัดรักษาโรคบางชนิดที่ไม่รุนแรง ก็ใช้สมุนไพรทดแทนการใช้ยาที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์  
        -ในการปลูกพืช ก็ใช้วิถีเกษตรอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดินให้สมบูรณ์ ใช้สมุนไพรหรือใช้จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ในการป้องกันกำจัดโรค แมลงและศัตรูของพืช ฯลฯ 
        -ในการเลี้ยงสัตว์ ก็ใช้พืชผักสมุนไพรในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับสัตว์ ใช้จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ในการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูของสัตว์ ใช้น้ำหมักชีวภาพในการสุขาภิบาลสัตว์

      ซึ่งถ้าพวกเราร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติ แม้จะเพียงคนละเล็กคนละน้อย ก็จะมีส่วนช่วยให้ธรรมชาติมีความสมดุลขึ้นได้ สิ่งแวดล้อมจะมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม ผลผลิตทางการเกษตรจะมีคุณภาพดีขึ้นและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และทั้งผู้ผลิต-ผู้บริโภค ก็จะปลอดภัยจากพิษของสารเคมี

  ข้อควรทราบก่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน
       
          ก่อนที่เราจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวันได้นั้น ควรมาทำความรู้จักกับคำที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ดังนี้

 1. เทคโนโลยี
            เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง องค์ความรู้และทักษะที่มนุษย์ใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น หรือดีขึ้นกว่าเดิม

 2. เทคโนโลยีชีวภาพ
             เทคโนโลยีชีวภาพ(Biotechnology) หมายถึง เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการนำสิ่งมีชีวิตและผลผลิตของสิ่งมีชีวิตมาพัฒนาให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและชีวภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดกระบวนการสร้าง กระบวนการทำลาย  หรือก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้น
             เทคโนโลยีชีวภาพที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มีขอบเขตที่กว้างมาก และครอบคลุมหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในการเกษตร การผลิตพืช การผลิตสัตว์ การผลิตอาหาร การผลิตยา การแพทย์ การผลิตพลังงาน การรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อม รวมถึงงานอุตสาหกรรม  นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีชีวภาพยังมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเบื้องต้นไปจนถึงขั้นสูง เทคโนโลยีชีวภาพที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือเทคโนโลยีการหมัก(Fermentation Technology) ที่ปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้น 
คนทั่วไปสามารถทำได้  ส่วนเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงนั้นมักเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนมาก ผู้ที่จะทำงานนี้ได้จะต้องมีความรู้และมีทักษะเฉพาะ เช่น วิทยาการการตัดแต่งพันธุกรรม( DNA Recombinant Technology)

 3. สารชีวภาพ 
             สารชีวภาพ หมายถึง สารที่ได้จากสิ่งที่มีชีวิตหรือสิ่งที่เคยมีชีวิตมาก่อน รวมถึงผลผลิตของสิ่งมีชีวิต(หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์วัตถุ)
             ซึ่งมนุษย์ได้รู้จักวิธีการนำสารชีวภาพนี้มาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างหลากหลายรูปแบบทั้งในด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย มานานแล้ว(มีวิวัฒนาการมาพร้อมๆกับมนุษย์ทุกสมัย) และปัจจุบันก็ยังมีการค้นคว้าวิจัยถึงการนำสารชีวภาพมาใช้ประโยชน์ให้ได้หลากหลายขึ้นอยู่ตลอดเวลา  

 4. สารสกัดชีวภาพ 
             สารสกัดชีวภาพ คือ สารที่ได้จากการนำอินทรีย์วัตถุที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ไปผ่านกรรมวิธีต่างๆ(สกัด)ตามกระบวนการ เพื่อให้ได้สารบางชนิดที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตในด้านต่างๆของมนุษย์
  
 5. น้ำหมักชีวภาพ 
             น้ำหมักชีวภาพ หมายถึง ของเหลวที่ได้จากการนำอินทรียวัตถุที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ไปผ่านการหมักตามกระบวนการ(แล้วแต่สูตร)โดยมีการใช้จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์(EM)เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อให้ได้สารบางชนิดที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตต่างๆของมนุษย์

 6. จุลินทรีย์
             จุลินทรีย์ (Micro organic) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่พืชหรือสัตว์ มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องมองผ่านกล้องจุลทรรศน์  จุลินทรีย์มีหลายชนิดทั้งกลุ่มที่มีประโยชน์และมีโทษ มีหลายสายพันธุ์ และจุลินทรีย์จะอาศัยอยู่ทั่วทุกแห่งทั้งในธรรมชาติ ดิน น้ำ อากาศ รวมถึงในร่างกายของมนุษย์ สัตว์และพืช 

 7. จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์(EM)
             หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Microorganism) ปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อย่อว่าEM เป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่มีประโยชน์หรือทำให้เกิดผลดีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น ลดหรือยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์กลุ่มทำลาย ช่วยขจัดกลิ่นเน่าเหม็น และทำให้เกิดอาหารในรูปแบบต่างๆ เช่น โยเกิร์ต ขนมปัง ซาลาเปา ฯลฯ ซึ่งโดยทั่วไปในสิ่งแวดล้อมสภาพปกติจะมีจุลินทรีย์กลุ่มนี้อยู่ประมาณ 10 % แต่เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์กลุ่มนี้ในชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น ในปัจจุบันจึงมีการผลิตจุลินทรีย์EM ขึ้นทั้งในรูปของจุลินทรีย์ชนิดแห้งและชนิดน้ำ


view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view