http://krupawana.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

สถิติ

เปิดเว็บ17/03/2010
อัพเดท19/03/2023
ผู้เข้าชม1,195,764
เปิดเพจ2,065,312

อนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

อยากให้อ่านตรงนี้ก่อน

กำเนิดของเศรษฐกิจพอเพียง

พ่อหลวงในดวงใจของฉัน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน

วิธีทำผลิตภัณฑ์ชีวภาพในครัวเรือนสูตรชีวภาพ

ทำการเกษตรวิธีอินทรีย์ชีวภาพดีกว่าใช้สารเคมี

การพึ่งพาภูมิปัญญาอย่างพอเพียง

ปฎิทิน

« March 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31      
iGetWeb.com
AdsOne.com

บ้านแพน โมเดล 54 อยู่กับน้ำท่วมให้มีความสุข ประสบการณ์ตรงจากผู้ถูกน้ำท่วมมืออาชีพ

      
         ประสบการณ์ตรงจากคนบ้านแพน ที่อยู่กับน้ำท่วมจนได้รับฉายาว่า "เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมมืออาชีพ"

        วันนี้ 6 กันยายน 2557 ขอปรับปรุงบทความที่เขียนไว้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2554 เนื่องจากในระยะนี้จะได้ยินข่าวเกี่ยวกับน้ำ้ท่วมหลายที่ หลายแห่ง ซ้ำที่เดิมบ้าง ที่ใหม่บ้าง บางท่านผ่านวิกฤตน้ำท่วมไปแล้ว บางท่านน้ำกำลังมุ่งหน้าไปหา มีบางท่านยังไม่เคยมีโอกาสเจอกับน้ำท่วมเลย และปีนี้ก็จะไม่ถูกน้ำท่วมแต่ก็กำลังกังวลใจ ที่ผ่านมาคนไทยไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน มีประสบการณ์ตรงในเรื่องน้ำท่วม มากบ้างน้อยบ้าง และเป็นบทเรียนราคาอภิมหึมามหาศาลแพงให้กับคนไทยทั้งประเทศและชาวต่างชาติที่มาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย จนไม่อาจประเมินค่าเป็นตัวเงินได้เพราะทั้งสภาพความทุกข์ทางใจที่ได้รับ และทรัพย์สินที่เสียหายไปกับสายน้ำ หลายคนต้องทนอยู่กับน้ำท่วมอย่างทุกข์ทรมาน บางคนบอกว่าไม่เคยคิดเลยว่าในชีวิตนี้จะต้องมาพบกับเหตุการณ์แบบนี้ และอีกหลายคนถึงแม้จะไม่เคยถูกน้ำท่วมแต่ก็วิตกกังวล  แต่ก็มีอีกหลายคนที่ได้เตรียมตัวรับสภาพการเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จะให้ชีวิตมีความทุกข์น้อยลง และรู้วิธีการปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับการถูกน้ำท่วมได้อย่างมีความสุข โดยเฉพาะชาวตลาดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธา 
         ในฐานะที่ฉันเกิดและเติบโตที่ตลาดบ้านแพน  และทุกวันนี้ก็ยังอยู่ที่บ้านแพน   มีบ้านพักอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเสนา (ไม่ต้องงงค่ะ ตลาดบ้านแพนกับตลาดเทศบาลอำเภอเสนาก็คือที่เดียวกันค่ะ)  และมีประสบการณ์ตรงกับการถูกน้ำท่วมมานับครั้งไม่ถ้วน จึงอยากจะถ่ายทอดองค์ความรู้และเกร็ดเล็กเกล็ดน้อยในการเตรียมใจและเตรียมตัวให้อยู่กับการเป็นผู้ถูกน้ำท่วมอย่างเป็นสุข เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านที่หลงเข้ามาอ่านบทความนี้ตั้งแต่ต้นจนจบบ้างไม่มากก็น้อย
         เกร็ดความรู้ : จากประสบการณ์ส่วนตัว
              ทุกๆปี ฉันจะสังเกตการดำรงชีวิตของมดและปลวกที่บ้านฉัน ในปีที่น้ำจะท่วมจะสังเกตเห็นว่ามีฝูงมดชนิดหนึ่ง(ตัวเล็กๆ กัดเจ็บ) มันจะรีบเร่งหาอาหารและอพยบขึ้นสู่ที่สูงของบ้านโดยเดินขนอาหารกันเป็นแถวๆ ขนตลอดทั้งวันทั้งคืนโดยไม่หยุดพัก (ตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายนเป็นต้นไป) ถึงแม้อากาศในเดือนเมษายนจะร้อนมากเพียงใด เจ้ามดชนิดนี้ก็ไม่สนใจที่จะลงไปหาไอเย็นจากดิน แต่พอถึงเวลาน้ำมามันจะหายไปหมดไม่เห็นแม้แต่ตัวเดียวและในฤดูฝนก็จะสังเกตเห็นว่าปลวกจะทำรังหรือจอมในตำแหน่งที่สูงกว่าปกติ และมีเพื่อนคนหนึ่งสังเกตเห็นว่าดอกของต้นงวงช้างจะเหยียดชูขึ้นสูงไม่ม้วนงอเหมือนปกติ  จึงอยากเชิญชวนให้คุณๆ ลองสังเกตธรรมชาติรอบๆตัวคุณดูบ้าง แล้วนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน
        

           ในอดีตตั้งแต่ครั้งโบราณกรุงศรีอยุธยาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีแม่น้ำหลายสาย ทั้งเจ้าพระยา ป่าสัก ลพบุรี และแม่น้ำน้อย อีกทั้งมีลำคลองกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ คนอยุธยาจึงมีภูมิปัญญาที่จะอยู่กับน้ำและใช้ประโยชน์จากน้ำ ดังจะเห็นได้ว่าบ้านเรือนของคนอยุธยาดั้งเดิมนั้นจะปลูกอยู่ริมน้ำ เป็นเรือนใต้ถุนสูงและมีโคกสูงอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก 
ในฤดูน้ำหลากก็ใช้สำหรับเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงและปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆน้อย ทุกบ้านจะมีเรือไว้ใช้งานอย่างน้อย 1 ลำ ในอดีตอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่คือการทำนาแต่ปลูกข้าวโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพราะทุกๆปีจะมีน้ำเหนือหลากมาพัดพาเอาตะกอนดินและธาตุอาหารพืชมาเติมให้  ในแหล่งน้ำมีกุ้ง หอย ปู ปลา ชุกชุม หาอยู่หากินได้ตลอดทั้งปี ส่วนชาวตลาดบ้านแพนในปัจจุบันนั้น วิถีการดำรงชีวิตได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้วคือจะเหมือนๆกับชุมชนเมืองทั่วๆไป แต่ก็ไม่ลืมวิถึชาวน้ำเพราะน้ำจะท่วมตลาดโดยเฉลี่ยทุกๆ 4 ปี แต่บางทีก็ท่วมติดกัน 2 ปีซ้อน ที่ผ่านมาเช่น พ.ศ.2538 พ.ศ.2545  พ.ศ.2549  พ.ศ.2553  พ.ศ.2554 (ที่น้ำท่วมกันทั่วถึง)และ ปี พ.ศ. 2556 ทางราชการจะพูดว่าเขตของพวกเรานั้น"เป็นพื้นที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก" แต่เพื่อนๆที่อยู่ต่างจังหวัดตั้งฉายาให้พวกเราว่า "เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมมืออาชีพ" ถ้าเป็นคนดั้งเดิมของบ้านนี้ก็มักจะรู้ว่าปีใดมีแนวโน้มว่าน้ำจะท่วมมากและจะต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร  ถ้าน้ำท่วมบ้านหรือน้ำท่วมตลาดจะต้องทำอย่างไร หรือต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำอย่างไรให้เดือดร้อนน้อยที่สุด  และเมื่อคนที่อื่นๆมาเห็นว่าเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพน้ำท่วมสูงได้เป็นเวลานานๆ มักจะพูดว่า "ถึงคนตลาดบ้านแพนจะถูกน้ำท่วมมากและท่วมมานานแต่ดูเหมือนว่ายังมีความสุขกันดีอยู่  ถ้าฉันเป็นอย่างนี้ก็คงจะเป็นทุกข์มาก หรืออาจจะอพยพหนี ทิ้งบ้านไปอยู่ที่อื่นนานแล้ว"

  


        
จริงอย่างที่เขาพูด ในปี พ.ศ. 2554 น้ำมาเร็ว ชาวตลาดบ้านแพนอยู่กับภาวะน้ำท่วมสูงนานเกือบ 4 เดือน น้ำเริ่มเข้าท่วมตลาดตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม  ท่วมก่อนเกาะเมืองอยุธยาและก่อนนิคมฯอุตสาหกรรม ถนนทุกสายในตลาดถูกน้ำท่วมสูงเกินระดับหัวเข่าขึ้นไป ถนนสายริมน้ำมีน้ำท่วมสูงเกือบมิดหัวผู้ใหญ่ ถ้าใช้เกณฑ์ของ ศปภ. ชาวตลาดบ้านแพนก็จะต้องอพยพกันทั้งหมด แต่ก็ไม่เห็นมีใครมาบอกให้พวกเราอพยพเลยและถึงจะให้หนีก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เพราะไม่มีที่ไหนที่จะอยู่แล้วมีความสุขเท่าบ้านของเรา ฉันจึงเข้าใจความรู้สึกของคนที่ถูกน้ำท่วมแต่ไม่อยากทิ้งบ้านไปดี  
       พ.ศ. 2556 ไม่มีใครคาดคิดว่าน้ำจะท่วมเพราะต้นเดือนกันยายน น้ำยังแห้งขอดคลอง แต่ฉันได้เตือนคนที่สนิทกันหลายคนว่าอย่าไว้วางใจ ถึงน้ำเหนือจะไม่มีแต่กลางเดือนอาจจะมีพายุถล่มเพราะฉันสังเกตเห็นฝูงมดมันเร่งรีบขนอาหารไปเตรียมสะสมไว้ แต่ระดับน้ำอาจไม่สูงมากนักเพราะปลวกทำจอมไม่สูงมากนัก (ปี 54 ปลวกทำจอมสูง)ข้อสังเกตนี้เชื่อถือได้มากกว่า 80 % ฉันพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วจนมีบางคนเรียกฉันว่า" ธิดาพยากรณ์น้ำ" สถานการณ์น้ำท่วมตลาดบ้านแพนแต่ละครั้งจะนานกว่าที่อื่นๆเพราะใครๆก็ไม่รัก"น้องน้ำ" ทางด้านตะวันตกติดกับจังหวัดสุพรรณน้องน้ำก็ไปไม่ได้(มีประตูน้ำเจ้าเจ็ด-บางยี่หนกั้นไว้) ทางใต้(ปทุมฯ  นนท์ฯ  กรุงเทพฯ) ก็ไม่ต้อนรับน้องน้ำพากันปิดประตูน้ำ เสริมคันดิน ตั้งกระสอบทรายกันเป็นแถวๆ แต่พวกเราชาวตลาดบ้านเพนก็ได้พิสูจน์ให้ใครต่อใครเห็นแล้วว่า "ที่ผ่านๆมาพวกเราอยู่กับน้ำท่วมอย่างไรให้มีความสุขได้(จริงๆก็ไม่สุขหรอก มันทุกข์น้อยกว่าที่ควร)" มีบางคนพูดติดตลกว่า "หน้าแห้งเราหายใจทางปอด แต่หน้าน้ำเราหายใจทางเหงือก"
ฉันจึงขอตั้งชื่อบทความนี้ว่า "บ้านแพน โมเดล 54 วิธีการปรับตัวอยู่กับน้ำท่วมให้มีความสุข" ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติตั้งแต่ภาคส่วนของท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ และภาคประชาชนชาวตลาดบ้านแพน ซึ่งจะขอเล่าเป็นส่วนๆไป ดังนี้

ส่วนท้องถิ่น ซึ่งพวกเรามักเรียกว่า"เทศบาล" ซึ่งก็คือ"เทศบาลเมืองเสนา" ได้ดำเนินการต่างๆอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาอย่างต่อเนื่องและนานแล้ว ที่เห็นเด่นชัด เช่น
        1. ยกระดับถนนในเขตเทศบาลให้สูงขึ้นจากเดิม 
            เพื่อให้ระดับน้ำท่วมไม่ลึกมาก สามารถใช้รถมอเตอร์ไซค์ สามล้อเครื่อง หรือรถยนต์ในการสัญจรไปมาภายในตลาดและติดต่อกับภายนอกได้ ในแต่ละปีจะมีการยกระดับถนนบางสายที่อยู่ในเขตเทศบาลให้สูงขึ้นกว่าเดิม โดยหวังว่าในปีใดที่น้ำท่วมแต่ระดับน้ำไม่สูงมากนัก ถนนบางสายจะได้ไม่ถูกน้ำท่วมหรือถ้าปีใดที่มีน้ำท่วมมาก ถนนบางสายก็น้ำจะถูกน้ำท่วมไม่ลึกมากนัก รถยนต์ขนาดใหญ่ยังสัญจรได้ (แต่ปี 54 ถนนทุกสาย...จมมิด)
       
        2. กันพื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นที่แห้งสำหรับใช้งานสาธารณะ
            มีการตั้งคันกั้นน้ำบริเวณท่ารถขนส่งและลานอเนกประสงค์ให้เป็นพื้นที่แห้ง เพื่อให้สามารถใช้รถยนต์ติดต่อกับภายนอกได้ และเป็นที่อาศัยจอดรถได้ พวกเราประชาชนชาวบ้านแพนและใกล้เคียง จึงยังหาซื้อของกินของใช้ได้ในราคาที่เป็นธรรม ไม่ถูกขูดรีดมาก  
            นอกจากนี้ ทางเทศบาลยังได้จัดแบ่งพื้นที่แห้งบางส่วนให้แม่ค้าใช้เป็นที่ตั้งแผงขายอาหารสดจำพวกผัก ผลไม้ ปลา หมู ไก่ ฯลฯ  ถึงจะมีแม้ร้านค้าไม่มากเหมือนกับสภาพปกติ แต่ประชาชนก็ยังพอหาซื้ออาหารสดได้บ้าง ไม่ต้องรอรับของช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว       
        
        3. ทำสะพานให้เดินไปมาหาสู่กันได้ทั้งตลาด
            เมื่อน้ำเริ่มเข้าท่วมตลาด ถนนในเขตเทศบาลสายใดที่มีน้ำท่วมสูงถึงประมาณหัวเข่าขึ้นไป รถวิ่งไม่ได้ คนเดินลำบาก ทางเทศบาลก็จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาทำสะพานไม้ให้เดิน โดยใช้ไม้กระดานยาวๆ 2-3 แผ่น ตอกบนขาไม้แป ให้สูงเหนือระดับน้ำพอประมาณ สะพานไม้นี้จะสร้างบนถนน ผ่านไปตามหน้าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทุกตรอกซอกซอย  เชื่อมไปถึงร้านค้า สถานที่ราชการ ท่ารถ และไปยังเขตอบต.ใกล้เคียง เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางไปมาหากันได้โดยไม่ต้องเดินลุยน้ำ ไม่เปียก ไม่เหนื่อย ไม่เปื่อย ไม่เป็นโรคน้ำกัดเท้า และเมื่อน้ำขึ้นสูงกว่าระดับสะพานที่ทำไว้ หรือน้ำลดระดับต่ำลงมา เจ้าหน้าที่ของเทศบาลก็จะมารื้อปรับระดับสะพานให้เหมาะสม(ต้องขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ทุกๆท่านเป็นอย่างสูงที่กรุณาเสียสละแรงกายแรงใจอย่างมาก ทั้งๆที่บ้านของท่านก็ถูกน้ำท่วมเหมือนพวกเราแต่ต้องมาเดินลุยน้ำ...
แช่น้ำ...ตากแดด...เหนื่อย...ร้อน(ด้านบน)...เย็น(ด้านล่าง)สร้างสะพานให้พวกเราเดิน และรื้อสะพานตอนน้ำลง 
ทั้งเปียก...เปื่อย...เหนื่อย...ร้อน...และถูกน้ำกัดเท้าไปตามๆกัน)

         4. จัดหาถุยังชีพมาแจกเป็นระยะ
             ทางทีมผู้นำในท้องถิ่นได้ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก จัดหาถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง มาแจกจ่ายให้กับประชาชนในเขตเทศบาลเป็นระยะๆ ประมาณ 7-10 วัน ต่อ 1 ครั้ง โดยใช้ระบบการแจกคูปองให้ได้รับของทั่วถึงกันทุกครัวเรือน จึงไม่มีการยื้อแย่งของช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าสิ่งของที่ได้รับจะไม่มากมายอะไรนักแต่ก็ช่วยให้ชาวตลาดเดือดร้อนน้อยลง เพราะ
หลายคน หลายครอบครัว เมื่อน้ำท่วมจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้จึงขาดรายได้ที่จะมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง (ขอบพระคุณผู้นำท้องถิ่นที่ช่วยประสานงาน และขอบพระคุณทุกๆท่านที่เสียสละแรงกายแรงทรัพย์นำสิ่งของยังชีพมาช่วยเหลือพวกเรา ขอให้ท่านและครอบครัวประสบแต่ความสุขความเจริญค่ะ) 


         5. จัดเก็บขยะและสิ่งปฏิกูลเป็นประจำ             
             จะมีเจ้าหน้าที่เทศบาลเดินเก็บถุงใส่ขยะที่ประชาชนตามบ้านเรือนนำมาแขวนไว้ที่ข้างสะพานทางเดิน และจะเก็บทุกวันโดยไม่ปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ชาวตลาดบ้านแพนก็ให้ความร่วมมือกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะลงในน้ำ หลายคนได้หิ้วถุงขยะจากบ้านของตนเองไปใส่รถที่ทางเทศบาลจัดเตรียมไว้ ทำให้น้ำไม่สกปรก ไม่เน่าเสีย เด็กๆสามารถลงเล่นน้ำ หรือหัดว่ายน้ำได้ (ขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ ที่ตั้งใจทำงานเต็มกำลังความสามารถ และขอบคุณชาวตลาดบ้านแพนทุกๆท่านที่ไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในน้ำ) 


หน่วยงานสำคัญในท้องถิ่น ได้ดำเนินการต่างๆและเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่เห็นเด่นชัด เช่น
        1. ไฟฟ้า 
            ชาวตลาดบ้านแพนมีไฟฟ้าใช้เป็นปกติ อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเสนา ซึ่งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้เตรียมการยกหม้อไฟฟ้าให้สูงพ้นระดับน้ำมาล่วงหน้าเป็นระยะๆก่อนที่น้ำจะท่วมสูง โดยค่อยๆทำมาตั้งแต่น้ำท่วมครั้งก่อนๆ จึงไม่มีปัญหาเรื่องต้องตัดกระแสไฟฟ้าเพราะน้ำท่วมหม้อไฟฟ้า

        2. น้ำประปา 
            ในความดูแลของการประปาส่วนภูมิภาคเสนา ชาวตลาดบ้านแพนมีน้ำประปาใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ขาดแคลนน้ำสะอาด  

        3. ธนาคาร 
            ประชาชนในอำเภอเสนา สามารถติดต่อทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารได้ไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง

        4. ร้านจำหน่ายเครื่องอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น 
            ในตลาดยังพอมีร้านค้าที่มีกำลังพอที่จะเปิดให้บริการขายสินค้าที่จำเป็น โดยพ่อค้า-แม่ค้า จะรวมตัวกันเช่าเหมารถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับลุยน้ำได้ไปซื้อผัก ผลไม้ อาหารสด และเครื่องอุปโภค บริโภคอื่นๆ มาจำหน่าย ชาวตลาดบ้านแพนจึง
สามารถหาซื้ออาหาร ยาและเครื่องใช้ที่จำเป็นได้บ้าง ถึงแม้ร้านค้าจะไม่เปิดขายทุกร้านเหมือนปกติ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย


ประชาชนชาวตลาดบ้านแพน ได้เตรียมตัวที่เห็นเด่นชัด เช่น
        1. 
ปลูกบ้านใต้ถุนสูง  หรือ เตรียมยกสิ่งของให้สูงพ้นระดับน้ำ 
            การปลูกบ้านใต้ถุนสูงเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอยุธยา และการเตรียมยกข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่จะเสียหายขึ้นสู่ที่สูงให้พ้นน้ำนั้น เราเรียกวิธีการนี้ว่า"หนุน" บ้านที่เป็นชั้นเดียวก็จะทำเป็นร้านไม้ชั่วคราวทำเป็นพื้นยกระดับให้สูงขึ้นมารองสิ่งของไว้ (บ้านบางหลังถึงกับต้องงัดไม้กระดานพื้นบ้านขึ้นมาใช้)และมีพื้นที่แคบๆ สำหรับพอนั่ง-นอน
บางบ้านก็ใช้ไม้พาดกับขอบหน้าต่าง และบางบ้านที่ระดับน้ำท่วมสูงมาก ก็จะต้องมุดหรือคลานเข้าไปอาศัยอยู่ใด้หลังคา
ถ้าเป็นบ้าน 2 ชั้น ก็จะเตรียมขนของขึ้นไปไว้ชั้นบนตั้งแต่ก่อนที่น้ำจะท่วม    สิ่งของบางอย่างที่น้ำท่วมแล้วไม่เสียหาย เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง ที่ทำจากไม้จริง(ไม่ใช่ไม้อัด) หรือถ้วยชามกระเบื้อง โอ่งน้ำ ก็จะปล่อยให้จมน้ำ พอน้ำลงก็ค่อยนำมาขัดล้างทำความสะอาดกัน

            เกร็ดความรู้จากพ่อของฉัน : วิธีป้องกันไม่ให้พื้นกระดานโก่งตัวหรือดีดตัวขึ้นจากการขยายตัวของไม้ที่ถูกน้ำท่วม ต้องทำก่อนที่น้ำจะท่วมถึงพื้น โดยงัดพื้นกระดานออกสัก 1- 2 แผ่น ปล่อยให้เป็นช่องว่าง แต่ถ้างัดกระดานขึ้นไม่ได้ ให้นำไม้แปวางตามขวาง แล้วตอกตะปูยึดไว้เพื่อประกับพื้นเป็นระยะ ๆ ห่างกันช่วงละประมาณ 2 ถึง 2 เมตรครึ่ง และเมื่อน้ำลงแล้วหลังจากขัดล้างทำความสะอาดแล้วต้องปล่อยทิ้งไว้ก่อนจนกว่าเนื้อไม้จะแห้งสนิทดีแล้วจึงค่อยงัดไม้ที่ตีประกับไว้ออก

         2. กันน้ำไม่ให้เข้าอาคาร-ร้านค้า(กันบางส่วน)
            บ้านที่เป็นปูน ตึก หรืออาคารพาณิชย์บางหลัง ที่พื้นอาคารและผนังมีความแข็งแรงมั่นคงพอ ก็จะมีการทำกำแพงกั้นประตูหน้าบ้าน หน้าร้าน หรือหน้าห้อง ไม่ให้น้ำเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อให้มีพื้นที่ทำกิจกรรมที่จำเป็นได้บ้าง แต่ไม่ได้กั้นหมดทั้งบริเวณของพื้นที่ มีการแบ่งพื้นที่ให้น้ำอยู่ด้วย และถ้ามีน้ำซึมเข้าไปในพื้นบ้างเล็กน้อย ก็ใช้ฟองน้ำซับออก หรือใช้ปั๊มน้ำขนาดเล็กสูบน้ำออก  เมื่อน้ำท่วมครั้งก่อนๆ นั้น มีบ้านหรือตึกหลายหลังที่ใช้วิธีการนี้ แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นจากพลังอันมหาศาลของน้ำที่ท่วมสูงมากและท่วมนานได้ บ้างก็น้ำซึมเข้าตามรอยต่อหรือรอยร้าว บ้างก็พื้นตึกระเบิด หรือบางทีก็ถึงกับกำแพงปูนที่ก่อไว้พังทลายน้ำทะลักเข้าไปท่วมข้าวของเสียหายภายในพริบตา ซึ่งชาวตลาดบ้านแพนก็ค่อยๆเรียนรู้ ทดลองแก้ปัญหา และได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งกันและกันในหมู่เพื่อนบ้าน ตัวอย่างเช่น
            - พื้นที่ปูด้วยกระเบื้อง มักจะมีน้ำซึมเข้ามาตามแนวกระเบื้อง 
            - พื้นปูนซีเมนต์  ถ้าระดับน้ำภายนอกสูงมาก มีโอกาสที่น้ำใต้อาคารจะดันพื้นให้ปริแตกจนถึงขั้นระเบิดขึ้นมาได้
            - พื้นหินขัดเรียบ  จะค่อนข้างมั่นคงแข็งแรงกว่าพื้นชนิดอื่นๆ(แต่ต้องทำอย่างหนาและอย่าใส่ลวดลายมาก)
            - ผนัง  ต้องก่อด้วยอิฐมอญ ฉาบปูนหนาและใส่น้ำยากันซึม จะกันน้ำซึมเข้าได้ดีกว่าซีเมนต์บล็อค
            - การยาแนวรอยต่อขอบวงกบประตู/รอยปริแตกของพื้นและผนัง ถ้ามีน้ำซึมเข้ามาได้ต้องใช้ปูน
ซิเมนต์ผสมดินเหนียวนวดให้เข้ากันยาแนวถึงจะกันน้ำไม่ให้ซึมเข้ามาได้  ถ้าใช้ดินน้ำมันหรือปูนซิเมนต์ผสมทรายจะอุดไม่อยู่
            - ถ้าระดับน้ำระหว่างด้านนอกกับด้านในกำแพงที่ก่อกันน้ำมีความแตกต่างกันมาก ควรขังน้ำไว้ในพื้นบ้าง ไม่ควรสูบน้ำออกจนหมด จะช่วยลดหรือต้านการระเบิดของพื้นได้
            - ทำกำแพงกันน้ำชั่วคราว

                    การทำกำแพงกันน้ำชั่วคราวที่มั่นคงแข็งแรง ทำได้ 2 แบบ คือ 
                           1. กำแพงก่ออิฐฉาบปูน ต้องฉาบปูนให้หนา ใส่น้ำยากันซึม และต้องทำล่วงหน้าเพื่อให้ปูนแห้งทันก่อนที่น้ำจะท่วม กำแพงต้องหนาและแข็งแรงพอ ถ้าแนวกำแพงกว้างมากควรก่อแนวค้ำยันด้านหลัง(ด้านในอาคาร) เป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยต้านแรงดันน้ำ หรือก่อกำแพงเป็น 2 ชั้น (ชั้นใน ก่อไม่ต้องสูงมาก และควรขังน้ำไว้ระดับหนึ่งเพื่อลดแรงดันจากภายนอก) และห้ามเหยียบ ห้ามเดิน ห้ามนั่งบนกำแพงโดยเด็ดขาด ในอดีตชาวบ้านแพนหลายคนมีประสบการณ์กำแพงพังเพราะทนแรงน้ำดันไม่ได้ ไม่ถึง 5 นาที น้ำเข้าเต็มพื้นที่ ปัจจุบันชาวตลาดหลายคน ทั้งหญิงและชาย มีทักษะการก่อกำแพงอิฐนี้ได้เองอย่างคล่องแคล่วโดยไม่ต้องรอจ้างช่างปูน ซึ่งพอถึงเวลาน้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้ามัวรอช่างอยู่อาจไม่ทันการณ์ เรียกว่า พวกเราพอมีภูมิปัญญาให้พึ่งพาตนเองได้
                           2. กำแพงเหล็ก เป็นนวตกรรมใหม่ของชาวตลาดบ้านแพน ใช้เหล็กทั้งแผ่นทำกำแพงและเสริมความแข็งแรงด้วยเหล็กฉาก
แล้วยาแนวด้วยกาวซิลิโคน(โดยทำเตรียมไว้ล่วงหน้าและนำมาติดตั้งก่อนที่น้ำจะท่วม) กำแพงนี้จะแข็งแรงกว่ากำแพงอิฐก่อ เมื่อน้ำลงก็สามารถถอดเก็บไว้ใช้งานได้อีกไม่ต้องทุบทิ้งให้เป็นขยะ แต่ก็ต้องลงทุนสูง(เชิญมาศึกษาดูงานได้ที่ตลาดบ้านแพน มีหลายร้านที่ใช้วิธีนี้)


         
3. ยกพื้นของอาคารให้มีระดับสูงขึ้นอย่างถาวร
             อาคารหลายแห่งมีการปรับปรุงพื้นให้มีความสูงขึ้นจากเดิมอย่างถาวร บ้านที่เป็นตึกก็จะการก่ออิฐ-เทปูนเสริมขึ้นไป ส่วนบ้านที่เป็นไม้ก็จะยกให้สูงขึ้นทั้งหลัง ที่เรียกว่า"ดีดบ้าน"  และมีหลายบ้านได้เตรียมการเรื่องห้องสุขาไว้ด้วย โดยสร้างให้มีระดับที่สูงขึ้นหรือสูงพ้นน้ำ เพื่อให้ใช้ปลดทุกข์ได้แม้ยามน้ำท่วมสูง

          4. จัดหาเครื่องอุปโภค บริโภค และของใช้เท่าที่คิดว่าจำเป็นจะต้องใช้เพื่ออยู่กับน้ำท่วมนานๆ               
              เราไม่เรียกการกระทำนี้ว่า" การกักตุน" แต่เราเรียกว่า "การเตรียมตัว" เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตตอนที่น้ำท่วมมากๆ จะมีใครมาช่วยเหลือเราหรือไม่  เพียงพอหรือไม่ หรือจะช่วยได้นานแค่ไหน แต่ละครอบครัวก็จะมีการเตรียมหาซื้อสิ่งของไว้ใช้ดำรงชีวิตตามกำลังของตน เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำปลา แก๊สหุงต้ม เครื่องกรองน้ำ และเตรียมเรือพาย ฯลฯ

 
          5. ทำมาหากินตามกำลังความสามารถ  
              ช่วงที่น้ำท่วมจะมีร้านค้าบางร้านสามารถเปิดขายสินค้าเล็กๆน้อยๆได้ และขายในราคาที่เป็นธรรม ไม่ขูดรีด   ข้างสะพานทางเดินที่เทศบาลทำไว้ จะมีร้านขายของกินเล็กๆน้อยๆ และมีแม่ค้าพายเรือมาขายขนมบ้าง ขายก๋วยเตี๋ยวบ้าง มีเรือพายรับจ้าง คิดค่าบริการ คนละ 10-30 บาท แล้วแต่ระยะทางใกล้-ไกล มีคนเก็บผักบุ้ง ผักกระเฉด หรือหาปลามาเดินขายตามบ้าน 
 
          6. ประชาชนมีการช่วยเหลือกัน  พึ่งพาอาศัย-แบ่งปันกัน และทำจิตใจให้เป็นสุข  
              ในสภาพปกติคนในตลาดบ้านแพนส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่เร่งรีบ การเดินทางมักใช้แต่รถ  แต่จากการที่มีน้ำท่วม พวกเราต้องเดินทางด้วยการเดินเท้าบนสะพานไม้ หรือนั่งเรือพาย ถ้าไม่คิดมากก็จะเห็นว่ามีข้อดีอยู่บ้าง คือพวกเราได้มีโอกาสใช้ชีวิตให้ช้าลง มีการพูดคุย ทักทาย หยอกเย้า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน ทุกวันตอนเช้าตรู่ยังคงมีพระสงฆ์มาบิณฑบาตรด้วยเรือพายบ้าง เดินบนสะพานไม้บ้าง และยังคงมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ ตามปกติ ถึงแม้น้ำจะท่วมมากแต่ชาวตลาดบ้านแพนก็ยังคงมีจิตใจใฝ่ในการทำบุญ มีการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เพื่อความสุขสงบทางใจ  ในช่วงเย็น ๆแดดร่มลมตกก็จะมีเด็กๆมาหัดพายเรือบ้าง เล่นน้ำบ้าง เด็กตลาดบางคนก็ถือโอกาสนี้หัดว่ายน้ำโดยไม่ต้องไปที่สระว่ายน้ำหรือลงคลอง
                
                      
http://www.photopeach.com/album/10ffnnv
ตลาดบ้านแพน ๒๕๕๔ กัยการเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำท่วม

(ข้อมูลอยู่ในระหว่างการปรับปรุง ขออภัยหยุดไว้แค่นี้ก่อนมีเวลาว่างจะมาเขียนต่อนะคะ) 

ขยายความ

        ตลาดบ้านแพนเป็นตลาดเก่า ตั้งอยู่ริมน้ำ เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับตลาดสามชุก ตลาดเก้าห้อง จังหวัดสุพรรณบุรี  แต่ได้รับการตั้งให้เป็นเขต"เทศบาลเมืองเสนา"มานานแล้ว ประชาชนมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม แต่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้คนทุกศาสนาถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่มีการทะเลาะหรือแบ่งแยกกันเรื่องศาสนา มีวัด โบสถ์คริสต์ และสุเหร่าตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก   อาชีพของประชาชนในตลาดส่วนใหญ่คือการค้าขาย ลำน้ำหลักที่มีอิทธิพลต่อชะตาชีวิตของชาวตลาดอย่างมากคือแม่น้ำน้อยกับลำคลองปลายนา  ในสมัยก่อนนั้นหน้าตลาดจะอยู่ทางริมน้ำ การสัญจรส่วนใหญ่ใช้เรือ ไม่มีรถยนต์ ไม่มีถนนใหญ่เชื่อมกับภายนอก ภายในตลาดหรือในเขตเทศบาลจะมีเพียงถนนสายเล็กๆ ขนาดกว้างพอให้รถสามล้อถีบวิ่งสวนกันได้ อดีตนั้นเส้นทางสัญจรหลักที่จะใช้ติดต่อกับโลกภายนอกได้ก็คือทางน้ำทางเดียวเท่านั้น   ในลำน้ำมีเรือมากมายหลากหลายชนิดสัญจรกันขวักไขว่ และจะพูดว่าวิ่งกันทั้งวันทั้งคืนก็คงไม่ผิดนัก มีทั้งเรือเครื่องและเรือพาย เรือเครื่องก็เช่น เรือแดง เรือด่วน เรือเอี้ยมจุ้น เรือยนต์ เรือหางยาว เรือสองตอน ส่วนเรือพายที่นิยมใช้กันก็เช่น เรือสำปั้น เรืออีแปะ(เรือเป็ด) เรืออีจู๊ด(เรือเข็ม) และเรือบด   ตอนฉันเป็นเด็กถ้าจะไปกรุงเทพฯ ต้องนั่งเรือด่วนไปขึ้นที่ท่าเตียน 

        ปัจจุบันใช้การสัญจรทางบกเป็นหลักและจัดได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางทางทิศตะวันตกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีถนนหลายสายเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ทั้งสายหลัก สายรอง และมีรถยนต์ประจำทางไปถึงตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ และเดินทางไปจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวก ชาวตลาดส่วนใหญ่นิยมใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ แต่ก็มีบางส่วนที่บ้านเรือตั้งอยู่ริมน้ำ ยังคงใช้เรือพายหรือเรือติดเครื่องยนต์เล็กๆในการสัญจรระยะใกล้ๆ  รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ในตลาดได้จากการเปิดร้านขายสินค้าเครื่องอุปโภค บริโภค อาหารสด อาหารแห้ง 

         เรือแดง เป็นเรือขนาดใหญ่ มี 2 ชั้น ทาสีแดง (ที่ไปล่มที่ลานเท ในวรรณกรรมเรื่องหลายชีวิตของท่านหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมทย์)  ชั้นล่างของเรือใช้บรรทุกสินค้าต่างๆ ด้านบนเป็นพื้นกระดานเรียบเงาให้ผู้โดยสารเลือกนั่งนอนได้ตามอัธยาศัย แล่นจากตลาดน้ำท่าเตียน กรุงเทพฯ ผ่านนนทบุรี ปทุมธานี มาตลาดบ้านแพน ผ่านออกไปจังหวัดสุพรรณบุรีทางประตูน้ำเจ้าเจ็ด-บางยี่หน   
        เรือด่วน (นึกถึงเพลงแม่ค้าตาคมที่ศรคีรี ศรีประจวบ เคยร้องไว้นั่นแหละ ที่ปัจจุบันเรียกเรือด่วนเจ้าพระยา วิ่งรับ-ส่งคนกรุงเทพฯ กับนนทบุรี) 
        เรือเอี้ยมจุ้น เป็นเรือบรรทุกลำใหญ่ ใช้บรรทุกข้าวเปลือก ข้าวสาร ถ่าน น้ำตาล มะพร้าว ฯลฯ จากจังหวัดต่างๆ มาจอดขาย เจ้าของเรือจะกินอยู่หลับนอนหุงหาอาหารกันในเรือ เหมือนกับเป็นบ้านหลังหนึ่งเลย
       

 

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view